“เราดูตัวเลขความชื้นดินในระบบ ค่าตัวเลขเท่านี้ สภาพต้นทุเรียนได้ เราจะประคองการให้น้ำไว้ที่ค่าตัวเลขนี้ แต่ก่อนไม่เคยรู้ความชื้นในดินและไม่รู้ว่าทุเรียนแต่ละช่วงการเติบโตต้องการน้ำไม่เท่ากัน เราให้น้ำเท่ากันตลอด” อนุชา ติลลักษณ์ เจ้าของสวน ผช.เก่ง ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง เล่าถึงวิธีการให้น้ำสวนทุเรียนที่เปลี่ยนไปหลังจากได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบควบคุมการให้น้ำโดยใช้เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศและความชื้นดิน (ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ)

อดีตช่างเครื่องยนต์เริ่มฝึกมือทำสวนทุเรียนอยู่กว่า 4 ปี ก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนป่ายาง 10 ไร่ เป็นสวนทุเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2560 ลงมือลงแรงทำสวนจริงจังจนได้ผลผลิตครั้งแรก 5 ตัน เมื่อปี พ.ศ. 2565  

“อาศัยหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตและเรียนรู้จากคนอื่น เราต้องเป็นคนน้ำไม่เต็มแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้ว ก็ไม่มีคนคุยกับเรา ลองผิดลองถูกแล้วปรับให้เหมาะกับสวนเราเอง ต้องหาจุดตัวเองให้เจอ”

หลังผลผลิตแรกผลิดอกออกผล สวน ผช.เก่ง ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมขยายผลโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบฟาร์มรักษ์น้ำของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ด้วยเป็นสวนที่เริ่มให้ผลผลิต มีความพร้อมของสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า แหล่งน้ำ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญคือ ทัศนคติของ อนุชา ที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีและพร้อมเป็นจุดเรียนรู้ให้เกษตรกรรายอื่น

“อะไรใหม่ๆ เราก็อยากลอง ตอนนั้นรู้แต่ว่าเป็นระบบเปิดปิดการรดน้ำ ก็อยากได้มาช่วยรดน้ำ เพราะเรามีสวน 3-4 แปลงที่ต้องไปดูแล แต่ก่อนต้องตั้งนาฬิกาเตือนเวลารดน้ำ พอติดตั้งระบบแล้วเราได้รู้ค่าความชื้นดิน ความชื้นอากาศและปริมาณน้ำที่ให้”

จากที่เคยใช้หัวจ่ายน้ำมินิสปริงเกลอร์ 2 หัว/ต้น ขนาด 600 ลิตร/ชั่วโมง อนุชา ปรับเป็นหัวจ่ายน้ำ 400 ลิตร/ชั่วโมง เดินระบบสายไฟควบคู่กับเรียนรู้การออกแบบระบบน้ำในแปลงและการใช้งานระบบฟาร์มรักษ์น้ำ ช่วยให้ อนุชา ลดปริมาณน้ำและระยะเวลาการให้น้ำน้อยลง

“ได้มากกว่าที่คิดไว้ อย่างการให้น้ำใช้เวลารดน้ำน้อยลง ต้นไม่แฉะ หัวมินิสปริงเกลอร์น้ำค่อยๆ ซึม ยิ่งตรงนี้เป็นดินร่วนปนทราย ถ้าใช้หัวใหญ่น้ำยิ่งไปเร็ว จากที่ไม่เคยรู้ความชื้นในดินมีแค่ไหน พอแล้วหรือยังกับต้นทุเรียน พอได้เห็นค่าตัวเลข ทำให้รู้ว่าน้ำแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ เป็นอะไรที่ได้มากกว่าที่คิดไว้แค่เปิดปิดให้น้ำ”

หลังติดตั้งระบบฟาร์มรักษ์น้ำบวกกับสภาพอากาศที่เอื้อต่อการติดดอกของต้นทุเรียน ส่งผลให้ผลผลิตปี พ.ศ. 2566 ขยับขึ้นเป็น 12 ตัน ผลผลิตต่อต้นประมาณ 50-60 ลูก (คุมความสูงของต้นไว้ที่ 7 เมตร) ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 และปริมาณน้ำที่ใช้ลดลงร้อยละ 58

“ปีที่แล้วได้เยอะ ก็คิดว่าระบบที่ติดตั้งมีส่วนช่วย ดูค่าความชื้นในดินเป็นหลัก แล้วอากาศก็ดีด้วย เราก็รักษาระดับความชื้นในดินไว้ ปีที่แล้วดอกมาเยอะ ต้องรูดทิ้งกันเลย ไม่ต้องปัดดอก”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ อนุชา ลงทุนติดตั้งระบบฟาร์มรักษ์น้ำเพิ่มอีกหนึ่งจุดในแปลงของน้องสาวที่อยู่ไม่ไกลกัน เพื่อต้องการรู้ค่าอุณหภูมิ ความชื้นดินและปริมาณน้ำ ติดตั้งมินิสปริงเกลอร์ขนาด 400 ลิตร จำนวน 3 หัว/ต้น

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้มากขึ้น อนุชา เร่งทำผลผลิตฤดูกาลใหม่ตั้งแต่สิงหาคมด้วย ด้วยรับรู้ข้อมูลสถานการณ์เอลนีโญที่กลับมาเยือนอีกครั้ง จากที่คาดการณ์ว่าจะแล้ง แต่อากาศกลับแปรปรวน ดอกไม่ติดตามที่คิดไว้ บวกกับการตัดสินใจเปลี่ยนหัวมินิสปริงเกลอร์และให้น้ำช้า เขาจึงคาดว่าผลผลิตในแปลง 10 ไร่ในปี พ.ศ. 2567 จะอยู่ที่ 5-6 ตัน

“ใครๆ ก็บอกว่ายังมีผลผลิตนี่ คำว่ามีของเขา กับมีของเราไม่เหมือนกัน มีของเราคือ ต้องเต็ม เราต้องเป็นคนเลือก แต่ปีนี้เขาเลือกเรา ปีที่แล้วเราเลือกเขา อยู่ตำแหน่งไม่ดี เราเอาออก แต่ปีนี้ต้องจำใจให้เขาเลือก” 

อนุชา มองความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ เรียนรู้และกลับมาอยู่กับตัวเองให้มากที่สุดเพื่อให้ได้แนวทางการทำสวนในแบบของตัวเอง โดยมีระบบฟาร์มรักษ์น้ำเป็นเครื่องมือ

“ระบบฯ ลดแรงงานและเวลาที่ต้องรดน้ำ มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้ การใช้งานไม่ยาก เข้าใจง่าย ที่สำคัญระบบหลังบ้านดี เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดีมาก มีปัญหาแจ้งไป เขาแก้ไขให้ทันที บางทีเจ้าหน้าที่ดูข้อมูลในระบบเห็นว่าความชื้นต่ำ ก็โทรศัพท์มาถามว่าได้ให้น้ำหรือยัง เราก็ให้เหตุผลไป”

นอกจากจะเพิ่มทักษะการใช้ระบบฟาร์มรักษน้ำแล้ว อนุชา ยังคิดปรับเปลี่ยนระบบท่อน้ำในแปลงใหม่เพื่อให้น้ำแรงขึ้น หลังจากได้เรียนรู้และได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ สท. ไม่เพียงเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสวนทุเรียน หากเขายังเตรียมระบบไว้เพื่อให้ลูกที่จะมาสานต่อสวนทุเรียนทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น

“ระบบฯ นี้ดีแล้วกับสวนเล็กๆ ของผม ผมไม่ได้ใช้อะไรมาก อาศัยดูค่าความชื้นดิน อากาศ อุณหภูมิ ฝนตกมาพื้นมีน้ำ แต่ในดินไม่มีน้ำ เราจะได้รู้ความชื้นดินและรู้ว่าต้องให้น้ำเพิ่ม อยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้อากาศเปลี่ยนมาก ทำสวนต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จำเป็นมาก” อนุชา กล่าวทิ้งท้าย

# # #

อนุชา ติลลักษณ์
สวน ผช.เก่ง
ต.บ้านแลง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง
โทรศัพท์ 081 7156494
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

‘ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ’ ตัวช่วยของชาวสวนทุเรียน