จังหวัดราชบุรีเป็นหนึ่งในพื้นที่ BCG Model สาขาเกษตร ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ยกระดับการปลูกผักปลอดภัยและผักอินทรีย์ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ โดยพืชผักที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า มะเขือเปราะ พริก ซึ่งมีแมลงศัตรูพืชหลายชนิด อาทิ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว แมลงวันผลไม้ เป็นต้น
“ก้อนเชื้อสดบิวเวอเรียและเมตาไรเซียม” จาก อนันต์ กอเจริญ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี คืออุปกรณ์สำคัญที่ สท. ใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้บิวเวอเรียและเมตาไรเซียมให้เกษตรกร 83 ราย จากกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดลในจังหวัดราชบุรี เกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางแพ เกษตรกรแปลงใหญ่ผักดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมืองราชบุรี
อนันต์ เป็นเกษตรกรเครือข่ายการทำงานของ สท. ที่เคยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตราบิวเวอเรียจากนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จนเป็นผู้ผลิตก้อนเชื้อสดบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมคุณภาพให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมากว่า 3 ปี
“แต่ก่อนผลิตก้อนเชื้อสดก็ยังเจอปัญหาปนเปื้อน พอได้ไปปรับความรู้การผลิตกับทีมวิจัย ก็สามารถผลิตได้ไม่ปนเปื้อนเลย สิ่งสำคัญอยู่ที่ได้หัวเชื้อคุณภาพ วิธีการผลิตที่ลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น การใส่หัวเชื้อในตู้เขี่ยเชื้อ ฉีดพ่นทำความสะอาดอุปกรณ์ รวมไปถึงวิธีการเก็บรักษาก้อนเชื้อในสถานที่และอุณหภูมิที่เหมาะสม”
อนันต์ บอกว่า การทำเกษตรระบบอินทรีย์ทำให้ความต้องการใช้ชีวภัณฑ์มากขึ้น มีทั้งเกษตรกรหรือหน่วยงานรัฐสั่งซื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาผลิตเอง หรือถ้าผลิตเองก็กลัวว่าจะปนเปื้อน
เป็นที่ทราบกันดีในจังหวัดราชบุรีว่าหากต้องการก้อนเชื้อสดคุณภาพทั้งบิวเวอเรีย เมตาไรเซียมและไตรโคเดอร์มา ต้องติดต่อมาที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลประสาทสิทธิ์ ด้วยความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์ทั้งหม้อนึ่งแรงดัน ตู้เขี่ยเชื้อ เครื่องกรอกน้ำอัตโนมัติ (ลดแรงงานและระยะเวลาในขั้นตอนเติมน้ำในถุงข้าวสาร) และสถานที่ผลิตที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทำให้สามารถผลิตก้อนเชื้อสดบิวเวอเรียคุณภาพได้มากถึง 600 ถุง/วัน
ไม่เพียงการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้บิวเวอเรียและเมตาไรเซียมให้เกิดประสิทธิภาพ โดยใช้ก้อนเชื้อสดคุณภาพแล้ว สท. ยังได้ติดตามการใช้ชีวภัณฑ์ของเกษตรกรผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รู้จัก รู้ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชอย่างมืออาชีพ” ให้เกษตรกรผู้ปลูกผักในจังหวัดราชบุรี ได้ร่วมเรียนรู้จากนักวิจัยและเกษตรกรที่มีประสบการณ์การใช้ชีวภัณฑ์
ภิญญา ศรีสาหร่าย เจ้าของฟาร์มฝันแม่ ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี อีกหนึ่งเกษตรกรเครือข่ายการทำงานด้านการผลิตผักอินทรีย์ของ สท. และได้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (area based) ในพื้นที่จังหวัดนำร่อง
ด้วยความตั้งใจที่จะทำเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิม ภิญญา จึงเริ่มศึกษาการใช้ชีวภัณฑ์ให้สอดคล้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ยื่นขอ แม้แม่ของเขาจะให้ใช้น้ำหมักสมุนไพรก็ตาม
“แรกๆ แอบใช้ไม่ให้แม่รู้ เขารู้จักไตรโคเดอร์มาอยู่แล้ว เราก็ค่อยๆ อธิบายให้เขาฟังว่าบิวเวอเรียก็เป็นสิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่คนละอย่าง จัดการแมลงตัวไหนบ้าง เขาก็เห็นผลจากผักที่แปลงเราใช้ เขาก็เอาไปใช้ด้วย”
ในช่วงแรก ภิญญา ผลิตชีวภัณฑ์ใช้เอง แต่ด้วยภาระงานในฟาร์มที่มากและไม่มั่นใจคุณภาพชีวภัณฑ์ที่ตนเองผลิต เขาจึงเลือกที่จะซื้อชีวภัณฑ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และด้วยเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรบนพื้นฐานข้อมูล ภิญญา จึงใช้ข้อมูลจากการบันทึกแมลงศัตรูพืชที่พบจากแปลงผักแต่ละชนิดในแต่ละฤดูกาล เพื่อเลือกใช้ชนิดชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงจัดการแมลงศัตรูพืชได้ หากยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการซื้อชีวภัณฑ์อีกด้วย
# # #