เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี “การบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวและการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว” ให้เกษตรกรแกนนำผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดมหาสารคาม ณ ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ต.แกใหญ่ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ โดยนายธานี ชื่นบาน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ได้กล่าวต้อนรับเกษตรกรแกนนำทั้ง 50 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้และศึกษาดูงานกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าว พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการตรวจสอบความงอกและตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของตนเองได้เบื้องต้น
การตรวจสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องมีเปอร์เซ็นต์ความงอกไม่ต่ำกว่า 80% สำหรับการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ด้านกายภาพ 4 ด้าน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์สุทธิ (เมล็ดข้าวที่มีเปลือกหุ้ม หรือเปลือกหุ้มหลุดออกแล้ว เมล็ดหักแตกที่มีขนาดใหญ่เกินครึ่งหนึ่ง และเมล็ดเป็นโรคที่ยังคงลักษณะเป็นเมล็ดข้าว ซึ่งเมล็ดพันธุ์สุทธิจะนำไปทดสอบความงอก) สิ่งเจือปน (เช่น เศษดิน หิน ชิ้นส่วนพืช ฯลฯ) เมล็ดอื่น (เช่น เมล็ดวัชพืช เมล็ดพืชชนิดอื่นๆ) และข้าวพันธุ์อื่นปน (จำนวนเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พันธุ์ที่ระบุในตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์)
กิจกรรมครั้งนี้ดำเนินงานภายใต้โครงการ “การยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวและสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรพื้นที่ ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี 2” ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ (GAP Seed) มกษ.4406-2560 พัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีข้าวสายพันธุ์ใหม่