เมื่อวันที่ 21-23 ตุลาคม 2567 นักวิชาการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับนักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ลงพื้นที่ติดตามแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่และพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบแปลงนาในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีข้าวสายพันธุ์ใหม่และการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เพื่อยกระดับการผลิตข้าวของเกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีแปลงเกษตรกร 5 ราย ร่วมทดสอบผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ ได้แก่ หอมสยาม 2 ไรซ์เบอร์รี่ 2 แดงจรูญ นิลละมุน ธัญสิรินต้นเตี้ย และข้าวเหนียวดำ จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่า ข้าวสายพันธุ์ใหม่สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดมหาสารคามและสุรินทร์ เกษตรกรยังสนใจทดสอบผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ตามความสนใจ ได้แก่ หอมสยาม 2 จำนวน 55 แปลง แดงจรูญ จำนวน 15 แปลง นิลละมุน จำนวน 11 แปลง ไรซ์เบอร์รี่ 2 จำนวน 15 แปลง ธัญสิรินต้นเตี้ย จำนวน 7 แปลง และข้าวเหนียวดำ จำนวน 16 แปลง

นอกจากนี้ยังได้ติดตามแปลงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะโน้มรวงของเกษตรกรที่ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (seed) คุณภาพดีจำนวน 31 แปลง และมีเกษตรกร 32 รายที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ตรวจสอบแปลงนาให้สอดคล้องกับการตรวจประเมินระบบการผลิตข้าว GAP Seed โดยมีศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

อนึ่ง ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ เป็นผลงานการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยนักวิจัยไบโอเทค ประกอบด้วย 3 กลุ่มพันธุ์ข้าว 6 สายพันธุ์ คือ กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมนุ่มพรีเมี่ยม ได้แก่ สายพันธุ์หอมสยาม 2 (ปรับปรุงฐานพันธุกรรมขาวดอกมะลิ 105) กลุ่มพันธุ์ข้าวสีโภชนาการสูง ได้แก่ สายพันธุ์แดงจรูญ นิลละมุน ไรซ์เบอร์รี่ 2 และกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่ออุตสาหกรรมข้าวเม่า ได้แก่ สายพันธุ์ธัญสิรินต้นเตี้ย ข้าวเหนียวดำ ซึ่งพันธุ์ข้าวสายพันธุ์นี้จะเป็นพันธุ์ข้าวทางเลือกเพื่อบริโภคหรืออุตสาหกรรม และยังยกระดับการผลิตข้าวของเกษตรกรทุ่งกุลาร้องไห้อีกด้วย

สท.-ไบโอเทค-ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ติดตามแปลงเกษตรกรทุ่งกุลาฯ ทดสอบปลูกข้าว 6 สายพันธุ์ใหม่