กลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคูปัจจุบันมีสมาชิก 52 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 9 หมู่บ้านในต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส เลี้ยงเป็ดเฉลี่ยครัวเรือนละ 15-20 ตัว ใช้เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนและแป้งสาคูควบคู่กับการให้อาหารสำเร็จรูป รายได้จากการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เฉลี่ยเดือนละ 500-1,500 บาทต่อครัวเรือน
ความสำเร็จจากการเลี้ยงเป็ดแห่งตำบลโละจูด ไม่ใช่แค่สร้างรายได้และสุขภาวะที่ดีให้คนในชุมชน แต่ทำให้ชาวบ้านเกิดทัศนคติที่ดีในการหวงแหนทรัพยากรอย่าง “ต้นสาคู” ด้วย
การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน การให้ชุมชนหยุดรุกป่าและหันมาร่วมเป็นผู้พิทักษ์ สิ่งสำคัญคือชาวบ้านต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา จ.นราธิวาส ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตรืและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไม่ได้แค่ส่งเสริมการปลูกดาหลา แต่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงเป็ดเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้กับชุมชนด้วย
ปัญหาส่วนหนึ่งของชาวบ้านตำบลโละจูด คือ ขาดโปรตีน ชาวบ้านนิยมกินแป้ง เช่น แป้งโรตี เป็นอาหารหลัก ส่วนเนื้อสัตว์ กินเนื้อแพะ เนื้อแกะบ้างแต่ไม่มาก เมื่อคุณสุนทร โต๊ะดำ หัวหน้าหน่วยฯ และทีมงานหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลาบาลา มีโอกาสไปดูงานการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อและเพาะเห็ดเป็นแหล่งโปรตีนของชาวบ้านหมู่บ้านผาคับ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทางใต้ไม่เหมาะกับการเลี้ยงไก่ เพราะทางใต้ชื้นมาก ฝนตกตลอด ไก่เป็นหวัดได้ง่าย ขณะที่เป็ดทนกว่า และชาวบ้านเคยเลี้ยงเป็ดมาก่อน จึงตัดสินใจเลี้ยงเป็ดไข่และเป็ดเนื้อเทศแทนไก่
ดูไก่แต่ออกมาเป็น “เป็ด”
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้สนับสนุนงบประมาณส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน เจ้าหน้าที่หน่วยฯ นำงบประมาณจัดซื้อพ่อแม่พันธุ์เป็ดไข่และเป็ดเนื้อเทศแจกจ่ายชาวบ้านที่สนใจ แต่ปัญหาสำคัญในการเลี้ยงเป็ด คือ ต้นทุนอาหารเป็ด อาหารสัตว์สำเร็จรูปราคาแพง อีกทั้งส่วนผสมหลักอย่างแป้งจากข้าวเปลือกเป็นวัตถุดิบหาได้ยากในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลดต้นทุนอาหารเป็ด ชาวบ้านใช้เศษอาหารจากครัวเรือนและโรงเรียนมาเป็นส่วนผสม ส่วนปัญหาเรื่องแป้ง เห็นว่าแป้งจากต้นสาคูน่าจะใช้แทนข้าวเปลือกได้ จึงทดลองนำต้นสาคูมาใช้ผสมเป็นอาหารเป็ด
“เมื่อก่อน คนแก่ คนเฒ่าตัดต้นสาคู ใช้มุงหลังคาบ้าน ส่วนลำต้นตัดวางทิ้งไว้ ไก่มาจิกแทะกิน แต่ไม่ได้นำมาทำเป็นสูตรอาหารอย่างตอนนี้” แบซะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หมู่บ้านบาลาเล่า
การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหน่วยฯ ไม่เพียงค้นพบภูมิปัญญาการใช้แป้งจากสาคู การพูดคุยกันเป็นประจำของชาวบ้าน ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการเลี้ยงเป็ดให้ดีขึ้น ในระยะแรกสมาชิกกลุ่มเลี้ยงเป็ดได้รับลูกเป็ดรายละ 15 ตัว มีการนัดประชุมทุก 2 เดือน นำอุปสรรคและปัญหาการเลี้ยงมาคุยกัน ช่วยกันคิดแก้ปัญหา เช่น เทคนิคการขูดต้นสาคูได้มาจาก มะอาแด สะอิ หรือแบเซ็ง เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเลี้ยงเป็ดด้วยกันเอง
สาเหตุที่ต้องเอาสาคูมาขูดเป็นฝอยเพราะเป็ดจิกกินสาคูเองไม่ได้เหมือนไก่ เดิมชาวบ้านเอาปี๊บมาตอกตะปูแล้วนำมาใช้ขูดต้นสาคู แต่บะเซ็งบอกว่าใช้ยาก เสียเวลา ให้ใช้ที่ขูดมะพร้าวขูด ได้ผลดีมาก ต้นหนึ่งขูดสองวันเสร็จ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านดูไข่เป็นว่าไข่เป็ดใบไหนฟักเป็นตัวผู้ ตัวเมีย เอาความรู้ที่ได้จากการเลี้ยงมาแบ่งปันกัน
“อาหารเป็ดตอนนี้ มีส่วนผสมสาคู 3 ส่วน อาหารสัตว์สำเร็จรูป 1 ส่วน ช่วยลดค่าอาหารสัตว์สำเร็จรูปได้มาก อาหารสำเร็จกระสอบละ 440 บาท สาคู ท่อนละ 40 บาท 3 ท่อนคือ 1 กระสอบ ราคา 120 บาท ถ้าใช้อาหารสัตว์อย่างเดียวเปลืองมาก ถ้าใช้สาคูผสมด้วย ลดต้นทุนไปมาก เอาของท้องถิ่นอย่างกล้วยป่า บอนมาสับ ต้มเป็นอาหารเสริมได้อีก” แบเซ็ง เล่า
“นอกจากสาคู ทางหน่วยฯ เลี้ยงไส้เดือนเป็นอาหารเสริมให้เป็ด” ศุภโยค เล่าเสริม
การส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดในช่วงแรกในปี 2555 ชาวบ้านสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก 15 ครัวเรือน และเพิ่มเป็น 34 ครัวเรือน จาก 9 หมู่บ้านในตำบลโละจูด เกิดรายได้จากการขายเป็ด ไก่ 8,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน โดยขายเฉพาะเป็ด ไก่รุ่นที่โตเต็มวัย และพ่อแม่พันธุ์ที่คัดออก
แบเซ็ง เล่าว่า “มีขายทั้งไข่เป็ด ลูกเป็ด เป็ด พ่อแม่พันธุ์เลี้ยงเอง ไม่ต้องซื้อ เมื่อวานขายเป็ดไป 40 ตัว กิโลละ 80 บาท สองอาทิตย์ที่แล้วขายลูกเป็ดตัวละ 45 บาท”
ผ่านมา 6 ปี กลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่ออนุรักษ์ป่าสาคู ในตำบลโละจูด มีทั้งหมด 52 ครัวเรือน อามิง เล่าว่า “ในปีนี้มีสมาชิกที่ยังคงเลี้ยงเป็ด และไก่ อยู่ 34 ครัวเรือน สมาชิกบางคนเลี้ยง แล้วหยุด แล้วเลี้ยงต่อ ไม่ได้เลี้ยงกันต่อเนื่อง เนื่องจาก พักหรือปรับปรุงโรงเรือน ประสบปัญหาโรคไข้หวัด โรคนิวคาสเซิล และเจอน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา”
“อาหารเป็ดผสมสาคูกับอาหารสัตว์สำเร็จรูป มีเศษอาหารจากครัวเรือน เศษข้าวเหลือกินและเปลือกหอย (หอยทุบให้แตก) จอกแหน”
“ชาวบ้านเลี้ยงไก่พื้นเมือง มีไก่ใข่บ้าง เกษตรอำเภอเอาพันธุ์มาให้”
“ชาวบ้านมีรายได้จากการเลี้ยงเป็ด ไก่ เฉลี่ยต่อครัวเรือน 3,300 บาทต่อรุ่นที่เลี้ยง (3-4 เดือน)”
(ลูกเป็ด 1 ตัว อายุ 10 – 20 วัน จำหน่ายตัวละ 25-35 บาท ขายเป็ดตามบ้าน กิโลกรัมละ 90-100 บาท เป็ดตัว ผู้น้ำหนักเฉลี่ย 2.5 -3 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยต่อตัว 200 –300 บาท เป็ดตัวเมียอายุเป็ด 4-6 เดือน น้ำหนักเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยต่อตัว 150 –200 บาท)
ชาวบ้านขายไก่บ้านตามบ้าน กิโลกรัมละ 70-80 บาท ส่วนใหญ่ขายเฉพาะเพศผู้ น้ำหนักเฉลี่ย 2 -2.5 กิโลกรัม ราคาต่อตัวประมาณ 100-200 บาท การเลี้ยงเป็ดและไก่ด้วยต้นสาคูไม่ได้มีประโยชน์แค่ลดต้นทุน แต่ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าและช่วยกันอนุรักษ์ป่าสาคูมากขึ้น
“เมื่อก่อนชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ ใครจะใช้พื้นที่ ขุดบ่อ ตัดทิ้งหมด พอรู้ว่าสาคูเลี้ยงเป็ดได้ อยากเก็บป่าสาคูไว้”
ช่วงต้นปี 2561 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงและการจัดการโรงเรือนสำหรับเป็ดเนื้อและไก่ รวมถึงการใช้วัคซีนอหิวาต์เป็ด-ไก่ นิวคาสเซิลเชื้อเป็นสเตรนลาโซต้า (NDL) ช่วยให้เกษตรกรมีระบบการจัดการเลี้ยงเป็ดไก่ที่ดี และใช้วัคซีนตามกำหนด ทำให้ไม่พบเป็ดไก่ติดโรคตาย
# # #
เยี่ยมชมพื้นที่โครงการ ติดต่อ
นายอัสมีลี อับดุลรอแม (อามีน)
ห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา (SBAL) นราธิวาส
โทร. 084 3114608, 089 2983947, 073 551901
น.ส.เพ็ญปภา เฟื่องอักษร และนายนิคม กันยานะ
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1732, 1722
(ข้อมูลเมื่อวันที่ 30/8/61)