สาคูเป็นพืชตระกูลปาล์มที่สำคัญชนิดหนึ่งในภาคใต้ ชอบขึ้นในพื้นที่พรุ ชุ่มน้ำ สามารถนำทุกส่วนของต้นมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใบ-มุงหลังคา ยอด-ปรุงอาหาร ลำต้น-สกัดเอาแป้งมาประกอบอาหาร รวมถึงใช้เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ปัจจุบันป่าสาคูถูกภัยคุกคามจากการขุดลอกคูคลองและการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่นปาล์มน้ำมันและยางพารา ทำให้ป่าสาคูลดน้อยลง
ประชาชนในพื้นที่ตำบลโละจูด ประกอบอาชีพหลักกรีดยาง เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ปลูกผักสวนครัว เป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงสัตว์ใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต จึงเกิดกลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคูขึ้น
กลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคูมีสมาชิกทั้งหมด 52 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 9 หมู่บ้านในตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เลี้ยงเป็ดเฉลี่ยครัวเรือนละ 15-20 ตัว โดยใช้เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนและแป้งสาคูควบคู่กับการให้อาหารสำเร็จรูป รายได้จากการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เฉลี่ยเดือนละ 500-1,000 บาทต่อครัวเรือน
ปี 2557 จนปัจจุบัน ปี 2560 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีป่าสาคู 43 แปลง พื้นที่ 26 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา–บาลา ดำเนินการจัดการต้นสาคูร่วมกับสมาชิกกลุ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อการอนุรักษ์ป่าสาคู ดูแลและจัดการโดยตัดต้นสาคูที่แตกเขากวาง (ระยะต้นแก่) เป็นระยะที่มีแป้งสะสมในลำต้นมากที่สุด ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร จำหน่ายให้สมาชิกและตัดแต่งดูแลป่าสาคูเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
- สาคู 1 ต้น สูง 10 – 15 เมตร เจ้าของสวนขายต้นละ 300 –500 บาท
- ต้นทุนการจัดการ ค่าตัด + ค่าขนส่ง = 500 บาทต่อต้น (แล้วแต่ระยะทางการขน)
- ขายท่อนสาคู ขนาดความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ราคา 70-90 บาท สาคู 1 ต้น ตัดได้ประมาณ 15 ท่อน สาคู 1 ต้น ขายได้ 1,200 -1,500 บาท
- กำไรจากการตัดต้นสาคู 1 ต้น 400 – 600 บาท
ความสำเร็จจากการเลี้ยงเป็ดแห่งตำบลโละจูด ไม่ใช่แค่สร้างรายได้และสุขภาวะที่ดีให้คนในชุมชน แต่ทำให้ชาวบ้านเกิดทัศนคติที่ดีในการหวงแหนทรัพยากรอย่าง “ต้นสาคู” ด้วย