กลางปี 2562 ดิเรก ขำคง เจ้าของฟาร์ม Be Believe Organic Farm จ.ราชบุรี และ ภัทรนิษฐ์ ภุมมา เจ้าของสวนกล้วยภัทรนิษฐ์ จ.นครปฐม ต่างเป็นตัวแทนของกลุ่มภายใต้เครือข่ายสามพรานโมเดล เข้าร่วมอบรม “การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ใครจะคิดว่าหลังการอบรมวันนั้นเพียง 6 เดือน ชีวิตของเขาทั้งสองได้เปลี่ยนไป
ดิเรก อดีตวิศวกรหนุ่มที่อิ่มตัวกับงานประจำ จับพลัดจับผลูเดินบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์กับผลผลิต “ต้นอ่อนผักบุ้ง” ที่เขาและภรรยาใช้เวลาถึงสองปีลองผิดลองถูกเพื่อหวังเป็นอาชีพใหม่
“แฟนผมแพ้เคมีทุกอย่าง แม้แต่ผงชูรส ตอนนั้นต้นอ่อนผักบุ้งมีน้อย เป็นต้นสั้นและใช้เคมี เรามองว่าถ้าปลูกเป็น ใช้เวลา 7 วันก็สร้างรายได้ แต่ข้อมูลการปลูกต้นอ่อนผักบุ้งแทบไม่มี เราต้องลองผิดลองถูกกันเอง ทิ้งไปเยอะมาก กว่าจะได้ความยาวต้นที่เหมาะ ต้นสวย ขาว อวบ”
จากต้นอ่อนผักบุ้งสู่ “น้ำสับปะรดสกัดเย็น” เครื่องดื่มอินทรีย์ขึ้นชื่อที่ใช้ทั้งเนื้อและแกนสับปะรดมาสกัดเป็นน้ำ สร้างมูลค่าให้สับปะรดอินทรีย์ที่ ดิเรก ลงทุนเช่าพื้นที่ปลูกและผ่านการรับรองจากสามพรานโมเดลตามกระบวนการตรวจสอบแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS
เส้นทางสายเกษตรอินทรีย์ของ ดิเรก แม้ดูราบรื่น มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม มีตลาดอินทรีย์ที่พร้อมรองรับ แต่การอบรมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลับเปิดโลกใบใหม่และปลดล็อคปัญหาที่ซุกอยู่ในตัวเขา
“ผมอยากไปหาความรู้วิธีเก็บเมล็ดพันธุ์และการทำผักสดคุณภาพจริงๆ แต่ไปแล้วได้มากกว่าความรู้ ได้เห็นโอกาส ทำผักสดขายก็ได้ส่วนหนึ่ง แต่ทำเมล็ดพันธุ์ ถ้าเราทำแล้วเก็บ เราช่วยคนอื่นได้ด้วย และถ้าจำหน่ายราคาดีกว่าผักสด”
ดิเรก ทบทวนความรู้ที่ได้มาจากคลิปที่บันทึกเก็บไว้ เขาเปิดฟังวันละหลายหน ตรงไหนที่ไม่เข้าใจ เขาจะเปิดฟังซ้ำ “ตอนไปอบรมผมถ่ายคลิปไว้ตลอด ไม่ถามอาจารย์และไม่จด ต้องการเก็บข้อมูลให้มากที่สุด ฟัง 100 เก็บได้ไม่ถึง 100 เดี๋ยวก็ลืม แต่อัดแล้วมาฟังซ้ำ พยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเองแล้วลงมือทำ”
ดิเรก เริ่มต้นจากเมล็ดถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์สิรินธรจำนวน 5 เมล็ดที่ได้จากการอบรม เขาเตรียมดิน เพาะกล้าตามขั้นตอนที่เรียนรู้มา และรายงานเข้ากรุ๊ปไลน์การอบรมที่มี ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นวิทยากรหลักของการอบรมอยู่ในกรุ๊ปไลน์ด้วย
“ถ้าเป็นแต่ก่อนผมไม่เพาะกล้า ขุดดินแล้วโยนเมล็ดเลย แล้วไปลุ้นให้ขึ้น แต่ผมปลูกแบบปราณีตตามอาจารย์ เพาะกล้าก่อน เตรียมดินลึก 20 ซม. ใส่ปุ๋ย ทำค้างรอ ใช้เวลา 2 เดือนเริ่มออกผลผลิต ฝักนึงยาวเป็นวา แล้วเก็บเมล็ดตามที่อาจารย์บอก ไม่รอให้แห้งคาต้น แต่เก็บฝักแก่เต็มที่ เมื่อสีฝักเริ่มเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง เก็บเลย”
ผลจากการลองมือลองความรู้ครั้งแรกจากต้นถั่วฝักยาว 5 ต้นนี้ ไม่เพียง ดิเรก จะเก็บเมล็ดถั่วฝักยาวได้ถึง 1,024 เมล็ด และแจกจ่ายให้เพื่อนเกษตรกรแล้ว ยังจุดประกายให้เขาอยากทำพื้นที่เล็กๆ ของเขาเป็นแหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์ของแม่โจ้
“แต่ก่อนผมไม่เคยเห็นความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ ซื้อที่ไหนก็ได้ แต่พอได้เรียนและลงมือทำเอง ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่เก็บรักษาให้ดีและเก็บอย่างถูกวิธี ก็จะกลายพันธุ์และหายไป เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีสักกี่คนที่เก็บเมล็ดพันธุ์ดีๆ ไว้ และถ้าผมทำได้จริง ผมอยากจะเป็นเมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่งของอาจารย์ที่ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง”
การอบรมที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และผู้ผลิตผักสดและเมล็ดพันธุ์ในชุมชน ผ่านกระบวนการให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มูลนิธิสังคมสุขใจ (สามพรานโมเดล) และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตผักสดคุณภาพและผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองอย่างถูกต้อง ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายฯ ใช่เพียงจบลงในห้องเรียนหรือในกรุ๊ปไลน์
“การลงพื้นที่ติดตามและให้คำปรึกษา” โดยผศ.ฉันทนาและเจ้าหน้าที่ สท. เป็นกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นหลังการอบรม เพื่อยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์และผักสดของเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่ง ดิเรก เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการนี้ ด้วยความกระตือรือร้นลงมือทำและด้วยพื้นอาชีพผลิตต้นอ่อนผักบุ้ง ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดปราณีต ไม่ต่างจากการผลิตเมล็ดพันธุ์
“ตั้งแต่เราทำต้นอ่อนผักบุ้ง เราสู้กันมาตลอดสองคนโดยไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย แต่หลังจากอาจารย์เข้ามา ทำให้เราเห็นทางออก ไม่เคยเจอหน่วยงานที่มาติดตามงานเราแบบนี้ อบรมแล้วก็จบไป อันนี้ถามยิ่งกว่าเป็นญาติเรา เจาะลึกถึงรายได้ รายจ่าย หนี้สิน ที่ผ่านมาเราไม่เคยลงรายละเอียดหรือหาทางออก แต่อาจารย์มาปลดล็อค ทำให้คิดได้ เป้าหมายไม่ใช่ผลผลิตหรือความเก่ง แต่ทำยังไงให้เราทั้งสองคนยังมีความสุข”
การพลิกพื้นที่ข้างบ้านขนาด 120 ตารางเมตรที่รกรุงรังให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นหนึ่งกิจกรรมในแผนงาน “ปลูกผักสดและเก็บเมล็ดพันธุ์” เพื่อตอบโจทย์รายได้และผลผลิตที่หลากหลาย ดิเรก ยกร่องขึ้นแปลงเพียงคนเดียว ลงทุนคลุมพลาสติกเพื่อไม่ให้หญ้าขึ้น และปลูกพืช เช่น พริกพัฒนฉันท์ มะเขือยาว มะเขือเทศ มะเขือเปราะพันธุ์ขาวกรอบแม่โจ้ ส่วนกำแพงรอบบ้านไม่ปล่อยว่างเปล่า ลงอัญชันหลากสายพันธุ์ไว้แปรรูป
“งานหลักที่ทำอยู่ ผมก็ทำต่อไป แต่ปลูกผักเพิ่ม เป็นผักที่ใช้เวลาดูแลน้อย ผมเน้นเก็บเมล็ดพันธุ์ แต่ในอนาคตผักสดเหล่านี้ก็จะเพิ่มความหลากหลายให้สินค้าของผมด้วย” ดิเรก เล่าถึงคำแนะนำที่ได้รับจากอาจารย์ฉันทนา ซึ่งเขามองว่า การทำเมล็ดพันธุ์ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและใส่ใจ ถ้าตั้งใจจริงและใส่ใจจริง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้
หาก “การปลูกผักสดและเก็บเมล็ดพันธุ์” เป็นแผนที่ช่วย ดิเรก ปลดล็อกปัญหาโดยใช้ความถนัดและต้นทุนสิ่งที่มีอยู่แล้ว “การเพาะกล้าสลัดอย่างมืออาชีพ” ก็เป็นแผนหลักของ ภัทรนิษฐ์ ภุมมา ตัวแทนกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ที่ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ฉันทนาหลังลงพื้นที่ติดตามและให้คำปรึกษา
ก่อนไปอบรมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภัทรนิษฐ์ เริ่มเพาะกล้าสลัดจากพบว่าเพื่อนสมาชิกที่ปลูกผักสดมักประสบปัญหาเพาะกล้าไม่ขึ้น จัดการเวลาการเพาะกล้าที่ไม่ลงตัว และหากใช้วิธีหว่านเมล็ด มักไม่ค่อยได้ผลและเปลืองเมล็ด เธอจึงศึกษาจากยูทูปและลงมือทำโรงเพาะกล้าเอง โดยมองว่า งานเพาะกล้าใช้เวลาไม่นานและขายออกได้ไว
“ทดลองเพาะกล้าสลัดเมื่อปี 2559 ก็ทำได้ แต่ยังไม่ดี ต้นยังไม่สวย ไม่เต็มถาด แต่เพื่อนก็มาขอซื้อไปปลูก เราก็ไม่กล้าขายเต็มราคา เพราะคุณภาพยังได้ไม่ดี ก็ใช้วิธีแถมไป”
ภัทรนิษฐ์ เดินตามรอยอาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ แต่หลังจากย้ายตามสามีไปอยู่ที่ค่ายทหารจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ที่นั่นได้เปิดโลกการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ให้เธอ “ไม่เคยคิดว่าจะเลี้ยงตัวเองรอดด้วยการขายผักอินทรีย์” เธอนำความรู้ที่ได้มาปรับเปลี่ยนการทำเกษตรบนพื้นที่ 9 ไร่ แม้ต้องพิสูจน์ให้พ่อแม่ที่คุ้นเคยกับการใช้สารเคมีเห็นคล้อยด้วยก็ตาม
“เรารู้สึกว่าทำงานมาก็เหนื่อย แล้วยังไปซื้อของที่อาบยาพิษมาอีก เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แทนที่จะได้ของดีๆ ก็คิดว่าต้องเปลี่ยน ต้องกินของดีๆ”
ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุและเจ็บป่วย ภัทรนิษฐ์ เลือกปลูกพืชผักที่ไม่ต้องดูแลมาก เช่น กล้วย ตะไคร้ กระชาย ถั่วพลู ผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับเพื่อนบ้านที่คงวิถีเกษตรแบบเคมี… “มันไม่ได้กินหรอก” จึงเป็นประโยคที่เธอได้ยินเสมอ
ภัทรนิษฐ์ เดินหน้าบนทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผลผลิต รายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นตัวตอบความคลางแคลงใจของผู้คน ขณะที่งานเพาะกล้าผักที่เริ่มต้นจากศูนย์ แม้มียอดสั่งจากเพื่อนสมาชิก แต่ด้วยคุณภาพกล้าที่ไม่เสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ทำให้เธอไม่ลังเลใจที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มฯ ไปอบรมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เก็บข้อมูลและตักตวงความรู้เต็มที่นำมาพัฒนาตัวเองและส่งต่อให้สมาชิกกลุ่มฯ
“ตอนที่เราเพาะกล้าสลัดเอง ก็สังเกตอยู่ว่าถ้ากลบดิน ต้นกล้าไม่ค่อยขึ้น พอได้ฟังจากอาจารย์ก็ยืนยันสิ่งที่เราคิด เราได้เทคนิคกลับมาเยอะมาก แต่ก่อนเพาะพริก มะเขือ หยอดลงถาดหลุม ขึ้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่วิธีการของอาจารย์เพาะลงตะกร้าที่มีทรายล้างน้ำแล้ว โรยเมล็ด แล้วกลบด้วยแกลบดำ รดน้ำ พอเริ่มมีใบขึ้นสองใบก็แยก ย้ายต้นเท่ากันๆ ให้อยู่ในถาดเดียวกัน ทำให้ได้ต้นกล้าที่โตเท่าๆ กัน”
ด้วยภาระหน้าที่ของ ภัทรนิษฐ์ ที่มีหลายด้านทั้งการดูแลพ่อแม่ ครอบครัว และงานจิตอาสา การวางแผนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งรายได้และภาระหน้าที่
“เราไม่เคยเอาพ่อแม่มาเป็นปัญหา เราต้องแบ่งเวลาให้ได้ ต่อให้ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นสิบเท่าก็ต้องทำให้ได้ อันนั้นเป็นหน้าที่ การหารายได้ก็เป็นหน้าที่เหมือนกัน เราจึงต้องวางแผนทุกวัน”
“การเพาะกล้าสลัดอย่างมืออาชีพ” เป็นหนึ่งแผนงานที่ตอบโจทย์เวลาและรายได้ ซึ่ง ภัทรนิษฐ์ ได้ปรับปรุงโรงเรือนและสภาพแวดล้อมตามคำแนะนำ อีกทั้งได้ฝึกปฏิบัติเพาะกล้ากับอาจารย์ฉันทนาอย่างใกล้ชิด
“เราคลุมพลาสติกโรงเรือนใหม่ที่ได้สนับสนุนจาก สวทช. และปรับปรุงโรงเรือนให้แข็งแรงขึ้น จัดการโรงเรือนทั้งด้านนอกและด้านในไม่ให้รก แต่ก่อนเชื่อว่าทำอินทรีย์ต้องรกๆ แต่ที่จริงแล้วเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง เราก็เปลี่ยนใหม่ โรงเรือนเราตั้งอยู่ริมถนน ถ้าทำให้โล่ง สะอาดตา คนผ่านไปมา มองเห็น เขาก็อาจมาเป็นลูกค้าได้”
ปัจจุบัน ภัทรนิษฐ์ เพาะกล้าผักสลัดเป็นหลัก มีทั้งเรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ เรดโครอล เรดแรบบิท และผักกาดแก้ว ใช้เวลาเพาะ 15 วันก็ขายได้ เธอใช้ถาดเพาะกล้าขนาด 104 หลุม หากลูกค้าซื้อครั้งแรกเธอคิดที่ราคาถาดละ 120 บาท ครั้งต่อไปเหลือถาดละ 100 บาทเมื่อนำถาดกลับมาคืนด้วย
จากที่ลองผิดลองถูกกับการเพาะกล้าสลัดมาเองเกือบ 3 ปี ขายแบบไม่กล้าขาย วันนี้ต้นกล้าสลัดของ ภัทรนิษฐ์ เติบโตสวยเต็มถาด ต้นสูงเสมอเท่ากัน มีคุณภาพ จำนวนลูกค้าจากเดิมที่ผันแปรตามคุณภาพต้นกล้า ก็กลายเป็นลูกค้าประจำ ที่สำคัญเธอขายได้อย่างสบายใจ โดยมีรายได้ 1,500-1,600 บาท/สัปดาห์
“หัวใจสำคัญของการเพาะกล้า คือ ความใส่ใจ อาศัยการสังเกต ร้อนไปก็พรมน้ำให้ เราทำเองด้วยมือ เราจะเห็นว่าต้นไหนดีต้นไหนไม่ดี การเพาะกล้าช่วยประหยัดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ และถ้ากล้าแข็งแรง ผลผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพด้วย”
ดิเรก และ ภัทรนิษฐ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และผู้ผลิตผักสดและเมล็ดพันธุ์ให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าคุณภาพอย่างมีความรู้ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์
# # #
Be Believe Organic Farm อ.เมือง จ.ราชบุรี
โทรศัพท์ 081 8466200
สวนกล้วยภัทรนิษฐ์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
โทรศัพท์ 061 2955162