แม้วันนี้ความพยายามของกรมประมงที่ต้องการให้ “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติจะไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงและผู้ประกอบการเกิดความกังวลว่าไทยอาจสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศให้กับต่างชาติ ซ้ำรอยเฉกเช่นแมววิเชียรมาศ แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เรื่องราวของปลาตัวเล็กที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานได้เป็นที่รู้จักมากกว่าเป็น “ปลาสวยงาม” แต่ยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าหลายพันล้านบาทให้ประเทศอีกด้วย
รู้จัก “ปลากัดไทย”
ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่มักพบกระจายอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางและบางส่วนของภาคเหนือของประเทศ ปลากัดมีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม ใช้ปากฮุบอากาศในการหายใจโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
แต่เดิมปลากัดที่พบในประเทศไทยมีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ปลากัดไทย (Betta splendens) เนื่องจากมีครีบและสีสันที่สวยงาม ส่วนอีก 2 สายพันธุ์คือ ปลากัดอีสาน (Betta smaragdina) และปลากัดภาคใต้ (Betta imbellis) เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อกัดกัน จึงไม่ได้รับความนิยม แต่ในระยะหลังได้มีการนำปลากัดมาผสมข้ามพันธุ์ ทำให้เกิดปลากัดที่มีลักษณะเฉพาะขึ้น ตัวอย่างเช่น ปลากัดหางสามเหลี่ยม (Delta-tailed) ปลากัดหางมงกฎ (Crown-tailed) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งดวง (Half-moon-tailed) และปลากัดสองหาง (Double-tailed) นอกจากนี้การผสมข้ามพันธุ์ยังทำให้เกิดการพัฒนาสีของปลากัดที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ปลากัดสีเดียวที่มีทั้งสีขาว สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สีเหลือง สีส้ม สีทอง หรือปลากัดสีผสม เช่น เจ้าไตรรงค์ ปลากัดลายธงชาติไทยที่ชนะการประกวดระดับโลก และมีมูลค่ากว่าตัวละห้าแสนบาท
โอกาสผู้ประกอบการไทยในเวทีปลากัดโลก
“ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำส่งออกที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างชาติและกลายเป็นอีกหนึ่งทูตวัฒนธรรมที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย ประเทศไทยส่งออกปลากัดไปกว่า 80 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน อิหร่าน เป็นต้น โดยส่งออกปลากัดเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านตัวต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่าพันล้านบาท
“การสร้างโอกาสให้ลูกค้าทั่วโลกเข้าถึงปลากัด” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกปลากัด ดังเช่นคุณสิรินุช ฉิมพลี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2558 และเจ้าของ สิรินุช เบตต้า ฟาร์ม
“เมื่อก่อนตอนทำฟาร์มแรกๆ ไม่ได้ทำตลาดเอง พอเลี้ยงได้ก็ติดต่อพ่อค้ามาซื้อเหมือนที่เกษตรกรคนอื่นๆ ทำ แต่เรามาคิดใหม่ว่าเราจะรอให้ตลาดมาหาเราเสมอไปหรือ ทำไมเราไม่วิ่งไปหาตลาดเองบ้างละ”
กลยุทธ์ “การสร้างโอกาสให้ลูกค้าทั่วโลกเข้าถึงปลากัด” ที่คุณสิรินุชใช้คือ การเดินสายประกวดปลากัดทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ
“ในช่วงปีแรกๆ ที่ส่งเข้าประกวด ไม่ได้รางวัลเลย ก็เลยต้องมาตั้งหลักศึกษาข้อมูลใหม่ว่าปลากัดเขามีมาตรฐานตรงไหน แล้วส่งเข้าประกวดอีก ปรากฏว่าในปี 2554 ปลากัดเราคว้ารางวัลแกรนด์แชมเปี้ยนชิพ ชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศไทย และในปี 2556 คว้ารางวัลแกรนด์แชมเปี้ยนชิพ ชนะเลิศอันดับ 1 ที่ประเทศออสเตรเลีย สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก พอจบงานนั้นเราก็ส่งปลาไปประกวดอยู่เรื่อยๆ จนตอนนี้ฟาร์มเราคว้ารางวัลจากการประกวดปลากัดสวยงามมาแล้ว 60 รางวัล” คุณสิรินุชกล่าว
จากการได้รับรางวัลต่างๆ ทำให้สิรินุช เบตต้าฟาร์ม เริ่มมีชื่อเสียง ปลากัดที่ผลิตออกจากฟาร์มได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสิรินุช เบตต้าฟาร์ม ส่งออกปลากัดผ่านพ่อค้าคนกลาง 90% และอีก 10% ใช้ “สื่อออนไลน์” เป็นช่องทางการตลาด ผ่านกิจกรรมประมูลปลากัดบนเว็บไซต์ ทำให้ลูกค้าจากทั่วโลกเข้าถึงปลากัดของสิรินุช เบตต้าฟาร์ม ได้
สำหรับแนวโน้มตลาดปลากัดในเวทีโลกนั้น คุณสิรินุชมองว่า ตลาดยังเติบโตต่อเนื่องและไปได้ดี ตลาดปลากัดจะเปิดกว้างขึ้น เห็นได้จากยอดสั่งซื้อที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และสถิติตัวเลขการส่งออกปลากัดของกรมประมงที่เพิ่มขึ้นในทุกปี เป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรไทยตอนนี้ที่จะเลี้ยงปลากัดเพื่อส่งออก
จากประสบการณ์สู่ความสำเร็จ คุณสิรินุชมีเคล็ดลับที่อยากจะฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงปลากัดส่งออก
“อย่างแรกเลยต้องมีความชอบก่อน เพราะการเลี้ยงปลากัดไม่ใช่งานที่ง่าย ต้องอาศัยความอดทน ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง โรคปลา หรือแม้แต่เรื่องการตลาด ที่สำคัญเลยคือ ต้องมองกระแสตลาดให้ออกว่าปลากัดแบบไหนกำลังได้รับความนิยม โดยอาจไปศึกษาตามตลาดนัดปลาสวยงาม เช่น สวนจตุจักร หรือตลาดต่างประเทศจากเว็บไซด์ต่างๆ เพื่อเป็นไกด์ให้เราหาพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาเพาะเลี้ยงให้ได้รุ่นลูกที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป”
เสริมจุดเด่นปลากัดไทยด้วย “ไรแดง”
จุดเด่นของปลากัดไทยที่แตกต่างจากปลาสวยงามขนาดเล็กชนิดอื่นในท้องตลาด คือ ลักษณะของครีบลำตัวและครีบหางที่มีความหลากหลายทั้งแบบยาว แบบสั้น แบบคู่ หรือแบบเดี่ยว รวมไปถึงสีสันที่มีความสวยงามฉูดฉาดสะดุดตา โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปลากัดสามารถแสดงจุดเด่นต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ คือ อาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง
ดร.เอื้ออารี สุขสมนิตย์ หัวหน้าแผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลากัด ให้ข้อมูลว่า สารอาหารที่ปลากัดได้รับในช่วงตัวอ่อนจนถึงช่วงโตเต็มวัยจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาสีและครีบ ในธรรมชาติปลากัดจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ไรแดงคือของโปรดอันดับต้นๆ ของปลากัดที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน ซึ่งไรแดงมีหลายประเภท ทั้งไรแดงสยาม ไรแดงเล็ก และไรแดงเทศ
ไรแดงเป็นไรน้ำที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลจากการศึกษของคณะอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวทช. ระบุว่าสารอาหารที่ได้จากไรแดงประกอบด้วย โปรตีน 65-70% ไขมัน 7-10% และยังมีกรดอะมิโนสำคัญครบทั้ง 10 ชนิด จึงทำให้ไรแดงเหมาะอย่างยิ่งในการนำไปใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงเพื่อเสริมจุดเด่นปลากัด
“เมื่อก่อนเกษตรกรจะไปช้อนไรแดงจากบริเวณแหล่งน้ำเสียต่างๆ เช่น น้ำเสียจากชุมชน น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ หรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีไรแดงหลายประเภทอยู่รวมๆ กัน แต่ละที่ก็จะมีปริมาณและคุณภาพไรแดงที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจจะมีเชื้อโรคและปรสิตติดมากับไรแดงด้วย” ดร.เอื้ออารี กล่าว
แหล่งที่มามีผลอย่างมากต่อคุณภาพของไรแดง การใช้ไรแดงจากแหล่งน้ำเสียธรรมชาติมักพบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคและปรสิตต่างๆ เช่น โพรโทซัวกลุ่ม Epistylis sp. ซึ่งหากนำไปใช้เป็นอาหารปลากัดอาจทำให้ปลาเป็นโรคตายได้ ปัจจุบันเกษตรกรจึงนิยมใช้ไรแดงจากฟาร์มเพาะเลี้ยงมาเป็นอาหารปลากัดแทน เพราะมีคุณภาพสูงกว่า
ดร.เอื้ออารี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงไรแดงในเชิงธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูง ทั้งฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลาน้ำจืดน้ำเค็ม หรือแม้กระทั่งฟาร์มปลากัด
สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพาะเลี้ยงไรแดงเพื่อเป็นอาหารสัตว์น้ำในเชิงเศรษฐกิจ จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้ ดร.นุกูล แสงพันธุ์ ดร.เอื้ออารี สุขสมนิตย์ และนางสาวพิศมัย เฉลยศักดิ์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ทำวิจัยเรื่อง “การผลิต การเพิ่มศักยภาพการนำไปใช้ประโยชน์ และต้นทุนการผลิตของไรแดง” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นแนวทางสำหรับผู้เกี่ยวข้องนำไปประกอบการผลิตและการใช้ประโยชน์
เกร็ดความรู้รอยอดีต “ปลากัดไทย”
ความผูกพันของคนไทยกับปลากัดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยความดุร้ายและสัญชาตญาณนักสู้ของปลากัด ทำให้คนสมัยก่อนนิยมนำมากัดต่อสู้กัน และกลายเป็นเกมการพนันที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ต้องการให้ประชาชนเลิกมัวเมาเกมการพนัน จึงทรงออกพระราชบัญญัติเรื่อง ห้ามเลี้ยงไก่ นก ปลากัด ไว้ชน กัด หรือทำการอื่นๆ เพื่อการพนัน ส่งผลให้บทบาทของปลากัดในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป จากเป็นปลาที่เลี้ยงไว้เพื่อเกมการพนันกลายเป็นปลาที่เลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงามแทน
ไม่เพียงความนิยมในประเทศไทยเท่านั้น ความโด่งดังของปลากัดยังเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าในตลาดสัตว์น้ำนานาชาติ เส้นทางโกอินเตอร์ของปลากัดไทยเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จากการเผยแพร่ข้อมูลของนายแพทย์ชาวเดนมาร์กที่เข้ามาสำรวจประเทศไทย และได้เขียนบทความอธิบายลักษณะของปลากัดไทย โดยให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Macropodus pugnax” แต่ต่อมาเมื่อตรวจสอบชื่อพบว่าเกิดความสับสนกับชื่อปลาชนิดอื่นที่ถูกค้นพบใหม่ จึงเปลี่ยนชื่อสามัญของปลากัดไทยเป็น “Siamese fighting fish” และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Betta splendens” ซึ่งหมายถึง “นักรบผู้สง่างาม”
ข้อมูลเพิ่มเติม
-เยี่ยมชม สิรินุช เบตต้าฟาร์ม โทรศัพท์ 086 1761228
-เรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงไรน้ำแดง สอบถามได้ที่ดร.เอื้ออารี สุขสมนิตย์ โทรศัพท์ 093 1439789
-หนังสือ “การเพาะเลี้ยงไรแดงยุคใหม่” https://bookstore.nstda.or.th/shop/product/web-405734-720?category=5
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
บทความข่าว กรมประมงดัน “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตั้งเป้าสร้างรายได้ปีละ 3 พันล้าน (https://news.thaipbs.or.th/content/267970)
เว็บไซต์กรมประมง (https://www4.fisheries.go.th)
เว็บไซต์ปลากัดไทย (http://nycsmokefreeblog.org/)