“ทำน้อยแต่มากด้วยคุณภาพผลผลิต ระบบจัดการที่เล็ก แต่เป็นระเบียบ”  เกล้า เขียนนุกูล สมาชิก “สวนภูภูมิ” บอกเล่าถึงแนวคิดการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวที่เป็นทั้งรีสอร์ทและสวนเกษตร โดยมี “สตอร์วเบอร์รี่อินทรีย์” เป็นผลผลิตขึ้นชื่อ

“สวนภูภูมิ” เกิดขึ้นจากความตั้งใจและความชื่นชอบการทำเกษตรของ พันโทกิติภูมิ เขียนนุกูล อดีตข้าราชการทหารที่ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวมากว่า 5 ปีที่บ้านเข็กกลาง อ.นครไท จ.พิษณุโลก บนพื้นที่ 20 ไร่ โดยมีโรงเรือนปลูกสตอร์เบอร์รี่ขนาด 1 ไร่ ก่อนจะโยกย้ายสมาชิกครอบครัวมาปักหลักทำรีสอร์ทได้เพียงสองปีที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บนพื้นที่ 3 ไร่ พร้อมแปลงสตอร์วเบอร์รี่เพียง 1 งาน

“สตอร์วเบอร์รี่อินทรีย์สวนภูภูมิ” เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบผลไม้เมืองหนาวนี้ ไม่เพียงปราศจากสารเคมี แต่ด้วยรสชาติที่เข้มข้น เนื้อแน่น หวานกรอบ ผลผลิตไม่เละ และเก็บได้นาน ทำให้มีลูกค้าสั่งจองตั้งแต่เริ่มปลูกและเฝ้ารอผลผลิตจากสวนแห่งนี้ทุกปี

“เราไม่ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เคมีไม่ยุ่งเลย ใส่แต่ขี้หมูขี้ไก่ล้วนๆ จนคนม้งยังบอกว่าบ้า จะทำได้เหรอ แต่เราก็ได้ผลผลิต 1,300-1,500 ก.ก./ไร่/ฤดูกาล เท่าๆ กับแปลงที่ใช้สารเคมี แต่ความเสียหายของเขาจะเยอะกว่า เพราะสุกแล้วเละคามือ”

ประสบการณ์การทำไร่สตอร์วเบอร์รี่พื้นที่ 1 ไร่ ลงทุนโรงเรือนไปกว่าครึ่งล้านบาท ทำให้สมาชิกของครอบครัวเห็นพ้องต้องกันว่า ทำไม่ต้องมาก ดูแลไม่ให้เสียหาย แต่ผลผลิตได้ทุกลูก

“ของที่เราทำมีคุณค่าอยู่แล้ว ถ้าเราทำให้มีคุณค่าอีก ก็ทำเงินได้เท่ากับทำในพื้นที่ 3-4 ไร่ โดยไม่ต้องวิ่งหาลูกค้า สำคัญที่ระบบการจัดการในฟาร์ม” ธัชพล เขียนนุกูล อีกหนึ่งสมาชิกของสวนภูภูมิ บอกเล่าถึงแนวคิด

จากที่เคยปลูกสตอร์วเบอร์รี่ในโรงเรือนขนาด 1,800 ตารางเมตร เพื่อป้องกันฝน แมลง และช่วยยืดเวลาการให้ผลผลิตได้ บวกกับความตั้งใจของครอบครัวที่ต้องการผลิตสตอร์วเบอร์รี่ให้ได้ทั้งปี สมาชิกสวนภูภูมิจึงตัดสินใจติดตั้งโรงเรือนอีกครั้ง แต่เป็นโรงเรือนที่แตกต่างจากเดิม

ธัชพล บอกว่า โรงเรือนแรกที่เราทำไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโครงสร้างผิด เตี้ย ไม่มีช่องให้อากาศไหลเวียน แม้ว่าจะดึงให้สตอร์วเบอร์รี่ออกผลผลิตได้ถึงเดือนกรกฎาคม แต่ก็ต้องดูแลจัดการเยอะมาก พอทำไป โรงเรือนกว้าง 1 ไร่ แมลงยังเข้าและเจริญเติบโตได้ดี เพราะข้างในโรงเรือนร้อนและชื้น แต่โรงเรือนของ สวทช. สูง โปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี

โรงเรือนปลูกพืชหลังใหม่นี้เป็นความร่วมมือระหว่างสวนภูภูมิและ สวทช. ที่ทดสอบการผลิตพืชเมืองหนาวในโรงเรือนที่มีระบบควบคุมและติดตามสภาวะแวดล้อม โดยมีเซนเซอร์วัดค่าอุณหภูมิยอดพืช ค่าความชื้นอากาศ ค่าความเข้มแสง และค่าความชื้นดิน ติดตามและสั่งงานระบบผ่านโทรศัพท์มือถือ

“ที่ผ่านมาเราใช้ความรู้และประสบการณ์ รู้แต่ว่าต้องให้น้ำกี่นาที ให้ปุ๋ยเท่าไหร่ แต่ไม่เคยรู้ว่าพืชตรงไหนไม่ได้น้ำ ได้น้ำเยอะหรือน้ำน้อย หมดน้ำไปเท่าไหร่ และต้องใช้น้ำเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะ พอใช้เซนเซอร์เข้ามาวัดค่า ค่าที่ได้เราก็เทียบจากประสบการณ์ ก็เชื่อได้ ซึ่งผลผลิตที่ได้แทบจะไม่เสียหาย และรสชาติดีกว่าแปลงนอกโรงเรือนที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ไม่ได้”

ขณะเดียวกันประสบการณ์จากการปลูกสตรอว์เบอร์รี่มากว่า 7 ปี เป็นแนวทางปรับประยุกต์ระบบในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาวชนิดนี้มากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ระบบพ่นหมอกตอนกลางคืนเป็นช่วงๆ ให้เหมือนน้ำค้าง การติดตั้งพัดลมในโรงเรือนให้ใบพืชได้เคลื่อนไหว เหมือนเป็นลมธรรมชาติ

“ได้ร่วมงานกับ สวทช. ทำให้เห็นโอกาสหลายๆ อย่างที่จะไปได้ไกลกว่าการปลูกสตอร์วเบอร์รี่ แต่เราจะเป็นผู้นำโซลูชั่นของเกษตรยุคใหม่ที่คนอื่นมาเรียนรู้ได้ นำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ทำน้อยๆ แต่ทำให้ได้เงินอย่างไร”

แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก แต่คนทำเกษตรที่ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเองอย่าง พันโทกิติภูมิ มองว่า เทคโนโลยีช่วยลดเวลาและแรงงาน การทำเกษตรไม่ใช่หุ่นยนต์ ทำเกษตรต้องเข้าไปดูแปลง จะมีระบบสมาร์ทอย่างไรก็ต้องเข้าไปดู ปล่อยให้รดน้ำอัตโนมัติแล้วไม่ดูเลยไม่ได้

“ความรู้เป็นพื้นฐานหลัก เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดการดีขึ้น เรื่องสำคัญคือ ความใส่ใจ เกษตรกรถึงให้รู้เท่ากัน แต่ไม่ใส่ใจก็ไม่มีประโยชน์”

“สวนภูภูมิ” นิยามตัวเองบนป้ายทางเข้าไว้ว่า “Resort-ที่พัก Strawberry Organic Farm เกษตรปลอดสาร ระบบฟาร์มอัจฉริยะ วิจัยร่วมกับ สวทช.” ไม่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่ที่นี่ยังเปิดให้ความรู้กับเกษตรกรที่สนใจการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ขณะเดียวกันพร้อมต่อยอดการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยบริหารจัดการการทำเกษตรให้สะดวกยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของสวนที่ว่า ทำน้อยแต่มากด้วยคุณภาพ

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับสวนภูภูมิ ทดสอบ สังเคราะห์ และปรับแต่งเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะสำหรับผลิตพืชเมืองหนาว

หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี

ทำน้อย มากด้วยคุณภาพ