“ตื่นเต้น รู้สึกว่าเท่ แปลกใหม่ โรงเรือนที่เคยเห็นก็ธรรมดา ไม่มีเทคโนโลยี” มายด์-สุภนิดา นามโบราณ นักเรียนทวิศึกษาสาขาเกษตรนวัต โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ โรงเรียนวังจันทร์วิทยา เล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้รู้จักโรงเรือนอัจฉริยะ
“โรงเรือนอัจฉริยะ” คือโรงเรือนปลูกพืชที่ติดตามและควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือน ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความชื้นอากาศ ความเข้มแสง และความชื้นดิน โดยใช้ชุดเซนเซอร์และระบบควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยอัตโนมัติตามความต้องการของพืช
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดตั้งโรงเรือนอัจฉริยะ ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยองและใกล้เคียง ขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในหัวข้อเรียนรู้ของนักเรียนหลักสูตร “เกษตรนวัต” อีกหนึ่งโครงการความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2562 เหล่านักเรียนเกษตรนวัตจำนวน 21 คน ใช้เวลาช่วงบ่ายในแต่ละวันเรียนรู้เรื่องพืช โดยมี “มะเขือเทศ” เป็นพืชหลัก และมี ศ. ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศของประเทศ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่แค่ขุดหลุม ปรุงดินใส่ปุ๋ย หยอดเมล็ด รดน้ำ แต่เป็นการปลูกมะเขือเทศผลสดในระบบโรงเรือนที่ใช้เทคโนโลยีมาติดตามและควบคุมสภาวะแวดล้อม ซึ่งพันธุ์มะเขือเทศที่เด็กๆ ปลูกเป็นสายพันธุ์ชายนี่ ควีน (Shiny Queen) พันธุ์นิลมณี และพันธุ์ออเร้นจ์ มข. ที่พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โดยอาจารย์สุชีลา
“ถ้าบอกว่าให้ไปจับจอบจับเสียม เด็กอาจจะไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าบอกว่าให้ดูค่าความชื้นดิน เด็กสนใจ อยากทำ ประหยัดแรงตัวเอง แต่ก็ยังได้ทำเกษตร” สโรชา กรุษฉ่ำ คุณครูประจำหลักสูตรเกษตรนวัต บอกเล่าถึงการเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งสำคัญกับการทำเกษตรมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนมากขึ้นอย่างทุกวันนี้
“เทคโนโลยีช่วยให้การทำเกษตรสะดวกขึ้น ประหยัดเวลาเกษตรกร ได้ไปทำอย่างอื่นมากขึ้น แต่ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานเกษตรและก็ยังต้องดูแลพืชที่ปลูกด้วย” บีม-อนาวิล ชูนวน หนึ่งในนักเรียนทวิศึกษาสาขาเกษตรนวัตฯ ที่มีความฝันอยากทำสวนเกษตรอินทรีย์ท่องเที่ยวที่นำเทคโนโลยีมาใช้งาน บีม ได้ลงมือปฏิบัติวางระบบน้ำ ดูแลอุปกรณ์ และทดลองสั่งการรดน้ำอัตโนมัติในคาบเรียนการปลูกมะเขือเทศ เช่นเดียวกับ มายด์ ที่ตั้งใจเดินตามอาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ แต่ต่อยอดด้วยการใช้เทคโนโลยี “รุ่นเราถ้าทำสวน ต้องมีเทคโนโลยีมาใช้แล้วล่ะ อุณหภูมิอากาศและการให้น้ำมีผลกับการติดดอกของทุเรียน คิดว่าเทคโนโลยีช่วยได้ และถ้าลงทุนเทคโนโลยีก็ใช้ได้หลายปี”
นอกจากเด็กๆ ได้เรียนรู้ระบบการทำงานของโรงเรือนอัจฉริยะ การปลูกและดูแลมะเขือเทศผลสดแล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้เรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช การผลิตสารชีวภัณฑ์ (ราบิวเวอเรีย) การผลิตต้นอ่อน (ไมโครกรีน) การบันทึกกิจกรรมการปลูก (Trace farm) รวมถึงการผลิตเห็ดคุณภาพและระบบติดตามสภาวะอากาศในโรงเพาะเห็ด
เป็นเวลาร่วม 5 เดือนที่เด็กๆ เรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ที่โรงเรือนอัจฉริยะ โดยมีมะเขือเทศผลสดเป็นบทเรียนหลัก ความรู้และประสบการณ์เพิ่มพูนขึ้นทุกๆ ครั้ง เช่นเดียวกับการเจริญเติบโตของเมล็ดมะเขือเทศ จนเป็นผลผลิตสุกงามพร้อมเก็บเกี่ยว
“ไม่คิดว่าตัวเองทำได้ ปลูกมะเขือเทศเป็นงานละเอียด ต้องดูแลใส่ใจละเอียดยิบมาก กรรไกรที่ใช้ตัดต้นหรือใบที่เป็นโรคทิ้ง ก็ต้องมาฉีดแอลกอฮอล์ก่อนไปตัดต่อ ป้องกันโรคไปติดต้นอื่น” มายด์ เล่าถึงความรู้สึกต่อบทเรียนพืชเรื่องมะเขือเทศ ขณะที่ บีม เสริมว่า การตัดแต่งใบให้ต้นบางลงไม่เป็นที่อยู่ของแมลงศัตรูพืชและแหล่งสะสมโรค หรือใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารเคมีฉีดพ่น ก็ต้องเรียนรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
“เด็กๆ มาเรียนหลักสูตรเกษตรนวัตด้วยความชอบเกษตรเป็นพื้นฐาน ซึ่งเนื้อหาไม่ใช่เกษตรการงานทั่วไป แต่เขาต้องเรียนรู้เรื่องเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสุดท้ายต้องออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา ช่วงแรกๆ บางคนยังทำตามคำสั่ง แต่พอปรับตัวได้ เขากระตือรือร้นที่จะทำเอง ตั้งคำถามและหาคำตอบเอง” สโรชา บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนที่ใช้ “โรงเรือนอัจฉริยะ” เป็นสถานีเรียนรู้
นอกจากที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์แล้ว สวทช. โดย สท. ยังได้ติดตั้งโรงเรือนอัจฉริยะที่บริเวณสวนผัก AGRITEC Station อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี แปลงสาธิตการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตร โดยทดสอบและสาธิตผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร
โรงเรือนอัจฉริยะที่สวนผัก AGRITEC Station เป็นแหล่งเรียนรู้และห้องทดลองที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรจะได้ศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลความต้องการของพืชในระบบโรงเรือน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นคลังข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำเกษตรของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้ที่สภาพอากาศแปรปรวนยิ่งขึ้น การเพาะปลูกพืชในโรงเรือนจึงมีความจำเป็นมากขึ้น
ในช่วงปลายปี 2562 สท. ได้ติดตั้งโรงเรือนอัจฉริยะแล้วเสร็จและได้ปลูกทดสอบมะเขือเทศ 8 สายพันธุ์ ได้แก่
- เชอร์รี่แดง เชอร์รี่เขียว นิลมณี ชายนี่ควีน ออเร้นจ์ มข. เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โดย ศ. ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- PC3 และ PC11 สายพันธุ์ที่พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
- สแนกสลิม สายพันธุ์จากภาคเอกชน
ส่วนหนึ่งของมะเขือเทศทั้ง 8 สายพันธุ์ในโรงเรือนยังใช้ถุงปลูก “Magik Growth” ผลงานวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ซึ่งใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปเส้นใยแบบพิเศษ ทำให้เส้นใยมีความยืดหยุ่นแบบผ้าสปันบอนด์ ออกแบบให้มีความหนาที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด แผ่นเส้นใยที่มีรูพรุนเล็กๆ ทำให้น้ำและอากาศถ่ายเทได้ดี
ข้อมูลจากระบบติดตามและควบคุมสภาวะอากาศของโรงเรือนอัจฉริยะจากทั้งสองสถานีเรียนรู้ จะเป็นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์การเจริญเติบโตของมะเขือเทศในสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อบริหารจัดการปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำหรือปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นคลังข้อมูลสำคัญของการปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือนให้กับประเทศ
“โรงเรือนอัจฉริยะ” อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย แต่สำหรับโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทเทคโนโลยี (smart technology) การเปิดรับเพื่อปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจึงจำเป็นยิ่งสำหรับอนาคตของภาคการเกษตรไทย
# # #
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
AGRITEC Station
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี