Smart Tambon Model หรือโครงการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาชุมชนพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล เป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบการพัฒนาประเทศที่บูรณาการความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากระดับตำบลสู่วงกว้าง โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านอาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม
สท. ได้เริ่มดำเนินงาน Smart Tambon Model ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 โดยลงพื้นที่ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่ของบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เก็บข้อมูลปัญหาและความต้องการของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนส่งเสริมความรู้ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ ดังที่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวไว้ว่า
“การเรียนรู้จากความรู้ต่างๆ ต้องผนวกและประสานเข้ากับเทคโนโลยีจึงจะทำให้เกิดสมาร์ท (smart) ในพื้นที่ และทำให้พื้นที่เรียนรู้ ต่อยอด พัฒนาและสร้างความยั่งยืนได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เทคโนโลยีมีหลายระดับ แต่ละระดับต้องถูกใช้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าชุมชนหนึ่งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อีกชุมชนหนึ่งจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันและเกิดความเหมาะสม การเข้าใจ เข้าถึงเพื่อการพัฒนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
พื้นที่นำร่อง Smart Tambon Model ประกอบด้วย 1) อบต.ช่องเม็ก จ.อุบลราชานี 2) อบต. ส้าน 3) อบต.ไชยสถาน จ.น่าน 4) อบต.เขาดินพัฒนา 5) อบต. ห้วยบง จ.สระบุรี 6) เทศบาลตำบลคำพอุง จ.ร้อยเอ็ด และ 7) เทศบาลตำบลชุมโค จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานด้านสังคมของบริษัท เบทาโกรฯ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development หรือ HAB) เพื่อแก้ปัญหาของชุมชนทั้ง 5 ด้าน
การดำเนินงาน Smart Tambon Model ได้ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ หรือ Agri Map ซึ่งเป็น Data Bank รวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของชุมชน เป็นฐานข้อมูลการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีของ สวทช. ที่จะสนับสนุนการพัฒนาในแต่ละด้าน เช่น เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ระบบการจัดการเมนูอาหารกลางวัน หรือ Thai School Lunch บอร์ดสมองกลฝังตัวที่ทำงานตามชุดคำสั่ง หรือ Kid bright ช่วยกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียน ตลอดจนการใช้ซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการข้อมูลและให้บริการข้อมูลทางวัฒนธรรม เป็นต้น
การเกิดขึ้นของโครงการ Smart Tambon ก่อให้เกิดความตื่นตัวในระดับท้องถิ่น นำไปสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือกับจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันยังเกิดการจัดตั้งคณะทำงาน Smart Tambon ในแต่ละพื้นนำร่องที่ ผลักดันการทำงานให้ตอบโจทย์ปัญหาในแต่ละด้าน โดยมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในแต่ละบริทเป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้ปัญหา ซึ่ง สท. ได้ประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษา ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ชุมชนได้รับประโยชน์นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน และจะเป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป
# # #