(20 พฤศจิกายน 2562) ที่เทศบาลตำบลคำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด – สวทช. ลงนามบันทึกความร่วมมือกับจังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเครือเบทาโกร เดินหน้าโครงการ Smart Tambol Model นำร่องที่เทศบาลตำบลคำพอุง พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้านด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล หรือ Smart Tambon Model เป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
“เทศบาลตำบลคำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของ Smart Tambon Model ซึ่งชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง เทศบาลฯ เห็นความสำคัญกับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ขณะเดียวกันยังมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ถึง 3 แห่งที่พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนบุคลากร ความรู้ และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ สวทช. และภาคีพันธมิตร โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้นำร่องถ่ายทอดโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพให้กับชุมชน รวมถึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม”
นายจักริน แต้ไพสิฐพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักกิจการเพื่อสังคม เครือเบทาโกร กล่าวว่า
เครือเบทาโกรทำงานด้านชุมชนมากว่า 10 ปี ภายใต้แนวคิดการทำงานพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development) หรือ HAB เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกด้าน
“เราเชื่อว่าการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริงให้ชุมชนได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสบการณ์การทำงานชุมชนของเครือเบทาโกรจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการ Smart Tambon Model ให้เกิดขึ้นได้ จะเป็นต้นแบบการทำงานพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่อื่นและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้”
นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่มุ่งให้เป็นจังหวัดเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม บนพื้นฐานแหล่งผลิตและสร้างมูลค่าข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน และเป็นเมืองน่าเที่ยวน่าอยู่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงการทำงานที่เข้มแข็งของบุคลากรในพื้นที่
“โครงการ Smart Tambon Model เป็นอีกหนึ่งกลไกการทำงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดที่มุ่งขยายผลการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน และด้วยการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเทศบาลตำบลคำพอุงเป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัดร้อยเอ็ดที่เข้าร่วมโครงการนี้และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นด้วยความรู้และขยายผลในพื้นที่อื่นของจังหวัดต่อไป”
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยคือ การบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญพร้อมให้บริการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
“โครงการ Smart Tambon Model เป็นอีกมิติการพัฒนาชุมชนที่เริ่มจากระดับตำบลและครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมทั้ง 5 ด้าน ซึ่งมหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานด้านการศึกษาพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนา ทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสู่ชุมชน รวมถึงสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรร่วมดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวตำบลคำพอุงให้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ภายในงานยังได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานและให้ความรู้เทคโนโลยีจาก สวทช. กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และหน่วยงานเอกชนในพื้นที่
# # #