สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และห้างหุ้นส่วนลักกี้ ซี้ดอโกร จัดสร้างต้นแบบ “โรงเรือนไม้ไผ่ปลูกพืชต้นทุนต่ำ” ให้ “ชมรมคนพิการสายใยรักตำบลร่องเคาะ” อ.วังเหนือ จ.ลำปาง สนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้ให้สมาชิกชมรมและผู้ดูแลผู้พิการ พร้อมขยายเครือข่ายผู้ผลิตผักอินทรีย์คุณภาพในพื้นที่จังหวัดลำปาง
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ที่มีบทบาทหนึ่งในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเผยแพร่สู่ชุมชน ซึ่งปัญหาที่พบจากชุมชนหรือเกษตรกรคือ ขาดองค์ความรู้การทำการเกษตร
“สท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือข่ายภาคเอกชน ดำเนินโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และผู้ผลิตผักสดและเมล็ดพันธุ์ในชุมชน” ผ่านกระบวนการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์ เรื่องการผลิตผักสดคุณภาพ การเก็บเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ไว้ใช้เอง และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักสดคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการผลิตผักสดคุณภาพและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักในระบบเกษตรอินทรีย์ไว้ใช้เอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนสร้างรายได้และอาชีพ การทำงานของ สท. ยังมุ่งขยายความรู้สู่กลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่เกษตรกรปกติ แต่ยังมีเครือข่ายของผู้พิการ ซึ่งมีความสนใจที่จะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ปลูกผักเพื่อบริโภค เป็นการพึ่งพาตนเองและสร้างอาชีพได้ ทั้งนี้ต้องขอบคุณณบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่สนับสนุนให้ สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ขยายผลความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอวังเหนือและเครือข่าย ซึ่งจะเป็นต้นแบบการแบ่งปันความรู้สู่เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่อื่นต่อไป”
“ชมรมคนพิการสายใยรักตำบลร่องเคาะ” เป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้ผลิตผักอินทรีย์ของนายภัทราพล วนะธนนนท์ เจ้าของ “สุขใจฟาร์ม” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมภายใต้โครงการดังกล่าวของ สท. โดยได้สนับสนุนให้สมาชิกชมรมฯ และผู้ดูแลผู้พิการได้ปลูกผักไว้บริโภคและจำหน่าย และได้เป็นเครือข่ายการผลิตผักอินทรีย์ของ “สุขใจฟาร์ม” ส่งจำหน่ายที่ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดจริงใจในเซ็นทรัล ลำปาง
นายภัทราพล วนะธนนนท์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการที่ สท./สวทช. จัดขึ้น เป็นสิ่งที่ดีมากๆ จากที่ไม่เคยมีพื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้ความรู้ครบทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่เพาะกล้าไปจนถึงเก็บเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง หรือแม้แต่การรู้จักและจัดการโรคและแมลง ซึ่งได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับฟาร์มของตัวเองและถ่ายทอดให้เกษตรกรในเครือข่ายและผู้ที่สนใจ
“พี่รินพิการแต่ใจสู้และรักสุขภาพ พี่เขาตัดผักไปขายที่ตลาด แล้วก็สั่งต้นกล้าจากเราไปให้คุณแม่ปลูก เราไม่ได้มองว่าพี่รินเป็นคู่แข่ง แต่เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยที่คนพิการเขายังต่อสู้แบบนี้ จากที่เข้าไปดูที่สวนและส่งผักตรวจคุณภาพ ไม่พบสารพิษตกค้าง เราก็รับซื้อผักจากแม่พี่ริน ซึ่งเขาได้ราคาเยอะกว่าไปขายที่ตลาดและพี่รินไม่ต้องเหนื่อยไปขายที่ตลาด คนพิการดูแลตัวเองไม่ได้ จะต้องมีผู้ช่วย ซึ่งเขาต้องเสียเวลาดูแลคนพิการ อยู่เคียงข้างตลอด ถ้าเราไปส่งเสริมให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น จุนเจือครอบครัวได้ คนที่ดูแลคนป่วยคนพิการ เขาก็มีรายได้ตรงนี้ด้วย”
นางพิมพกานต์ ทารักษ์ ประธานชมรมคนพิการสายใยรักตำบลร่องเคาะ กล่าวว่า ชมรมฯ พยายามผลักดันให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ และใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนปกติ จึงได้เริ่มต้นกับสมาชิก 5-6 คน ทำโรงเรือนเพาะเห็ดโคนน้อย ใช้เงินทุนจากการทอดผ้าป่าและทุนส่วนตัว ทุกคนลงแรงสร้างโรงเรือนกันเอง ผลผลิตที่ได้ก็ตัดไปขายที่ตลาด แต่เก็บขายได้เพียงสองครั้งก็ต้องรื้อทิ้ง เพราะก้อนเห็ดติดเชื้อ จึงเปลี่ยนมาทำแปลงผักปลอดสารพิษ ปลูกผักบุ้ง คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชี
“ตอนที่ย้ายมาปลูกผักบนพื้นที่นี้ แม่พี่เข้ามาช่วยดูแลผักและตัดผักให้พี่ไปขาย จนได้รู้จักสุขใจฟาร์ม ได้ซื้อต้นกล้าสลัดจากสุขใจฟาร์มมาปลูก และยังได้ความรู้การปลูกและจัดการโรคแมลง ผักที่แม่ดูแลโต สวยงาม สมบูรณ์ สุขใจฟาร์มก็รับซื้อและส่งขายขึ้นห้างเมื่อต้นปีนี้ แม่ดีใจมาก แม้วันนี้แม่เสียแล้ว แต่พี่ตั้งใจที่จะปลูกผักต่อจากแม่ วันนี้ได้รับโรงเรือนจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รู้สึกดีใจมากที่จะทำให้สมาชิกได้มีอาชีพ มีรายได้ และเป็นตัวอย่างให้ทั้งคนที่พิการหรือร่างกายปกติได้เห็นและพัฒนาตัวเอง”
นางสาวนลินี พรมสังข์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างโรงเรือนไม้ไผ่ปลูกพืชต้นทุนต่ำ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้สร้างโรงเรือนรูปแบบนี้ เป็นโรงเรือนที่ไปปรับใช้กับชุมชนได้เพราะลงทุนน้อย ใช้วัสดุในท้องถิ่น และยังได้เรียนรู้การแก้ปัญหาหน้างาน รวมถึงได้ลงมือทำในเรื่องที่เคยรู้แต่ทฤษฎี
“เหนื่อยแต่ก็คุ้ม รู้สึกปลื้มปริ่ม เห็นพี่ๆ คนพิการเขาดีใจก็รู้สึกดี เขาช่วยกันทำงานเหมือนคนปกติ ไม่ได้ทำให้ดูเป็นคนพิการเลย ถากหญ้าได้ ทำโน่นนี่ได้ ขนาดเขาไม่ปกติ เขายังสู้เลย ทั้งที่เราก็ปกติ ทำไมเราถึงท้อล่ะ”
“โรงเรือนไม้ไผ่ปลูกพืชต้นทุนต่ำ” นี้ เป็นโรงเรือนต้นแบบที่ สท./สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ลักกี้ซี้ดอโกร ได้ออกแบบและร่วมกันจัดสร้าง โดยเป็นโรงเรือนไม้ไผ่ขนาดเล็ก (ขนาด 2.5×12 เมตร) ราคาประหยัด การใช้งานภายในโรงเรือน ออกแบบทางเดินให้มีความกว้างสำหรับรถเข็นผู้พิการเข้าทำงานได้ ขนาดของโต๊ะปลูกผักที่มีความสูง 70 ซม. พอเหมาะต่อการทำงานของผู้พิการ รวมถึงการออกแบบอุปกรณ์ที่ช่วยในการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีจุดเรียนรู้การผลิต “ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง” ที่สมาชิกชมรมฯ สามารถที่จะผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้ในแปลงผักได้เองจากเศษวัสดุทางการเกษตร
ดาวน์โหลด แผ่นพับ โรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ