“ถั่วฝักยาว” เป็นหนึ่งในพืชผักต้นๆ ที่ผู้บริโภคกังขาถึงความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ขณะเดียวกันก็เป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่เกษตรกรกุมขมับกับปัญหาของโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงเลือกใช้สารเคมีเพื่อแก้ปัญหา
ภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตรของจังหวัดราชบุรี คณะทำงานโครงการ BCG ปี 25651 ได้เลือก “ถั่วฝักยาว” เป็นพืชผักนำร่องที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตจากระบบเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงได้ศึกษาและจัดทำแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช โดยใช้พื้นที่กรณีศึกษาที่ “ฟาร์มฝันแม่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี” และ “แปลงผักคุณระเบียบ เพชรแอง ต.ด่านทับตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี”
*ข้อมูลจาก แบบแผนการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์แบบผสมผสานของถั่วฝักยาว (Standard Operating Procedure: SOP) ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี” คลิกอ่านฉบับเต็ม
1ประกอบด้วย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชำติ (ไบโอเทค) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี และสำนักงานหอการค้าจังหวัดราชบุรี
“ชีวภัณฑ์” อาวุธคู่ใจทำเกษตรปลอดภัย
“ชีวภัณฑ์” เป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรในระบบการผลิตเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์นำมาใช้กำจัดหรือควบคุมการระบาดของศัตรูพืช (แมลงศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช) เป็นสิ่งมีชีวิตหรือสารสกัดที่ได้จากสิ่งมีชีวิต อาทิ ตัวห้ำ-ตัวเบียน สารจากแมลง สารสกัดจากธรรมชาติ หรือจุลินทรีย์ต่างๆ (เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส) เป็นต้น
ชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อแมลงเป้าหมายหรือโรคพืชต่างกันและมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม อีกทั้งควรใช้ชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชและความปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
ศัตรูพืชใน “ถั่วฝักยาว”
ถั่วฝักยาว เป็นพืชผักที่มีลักษณะเถาเลื้อย อายุสั้น โตเร็ว ปลูกได้ตลอดทั้งปี ดูแลง่าย เก็บฝักได้ตั้งแต่มีอายุ 30-40 วัน และเก็บผลผลิตรอบถัดไปได้อีกทุกๆ 2-4 วัน ต่อเนื่องได้ 20-30 วัน ขึ้นกับสายพันธุ์และการดูแล การปลูกถั่วฝักยาวจะพบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ตั้งแต่ระยะต้นอ่อน ระยะติดดอก และระยะติดผล
โรคพืชที่พบในถั่วฝักยาว มักเกิดจากเชื้อราและไวรัส มีสาเหตุหลักจากสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคเน่าเปียก โรคใบจุด โรคราสนิม โรคราเขม่าดำ โรคจากไวรัส โรครากเน่าโคนเน่า ขณะที่แมลงศัตรูพืชที่สำคัญของถั่วฝักยาว ได้แก่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนผีเสื้อเจาะฝักถั่ว หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนม้วนใบ
จากการสำรวจศัตรูพืชของถั่วฝักยาวในจังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ. 2565 พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในแต่ละฤดูกาล ดังแสดงในภาพที่ 1
ชีวภัณฑ์กับถั่วฝักยาว
ชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อโรคพืชและแมลงเป้าหมายต่างกัน การใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาวจึงต้องใช้แบบผสมผสาน เพื่อจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
• ชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ราบิวเวอเรีย (กำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยชนิดต่างๆ) ราเมตาไรเซียม (จำเพาะกับแมลงกลุ่มไร แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงวันผลไม้และด้วง)
• ชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดโรคพืช ได้แก่ ราไตรโคเดอร์มา (ควบคุมและทำลายโรคพืช เช่น โรคเหี่ยว ใบจุด ใบไหม้ แอนแทรคโนส รากเน่าโคนเน่า) แบคทีเรียบีเอ (BA) (ควบคุมแบคทีเรียและเชื้อราสาเหตุของโรคพืช เช่น โรคเหี่ยว โรคเน่ำ โรคทางใบ)
• ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนศัตรูพืช ได้แก่ แบคทีเรียบีที (BT) (กำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืช) ไวรัสเอ็นพีวี (จำเพาะกับหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอมและหนอนเจาะสมอฝ้าย)
จากการทดสอบแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชของถั่วฝักยาวในพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี สามารถสรุปคำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์ได้ดังภาพที่ 2 ทั้งนี้กรณีใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ต้องสลับวันฉีด เพื่อป้องกันสารเคมียับยั้งการเจริญของชีวภัณฑ์
การจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในถั่วฝักยาวโดยใช้ชีวภัณฑ์สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การเตรียมดิน โดยใช้ไตรโคเดอร์มาคลุกกับดิน เพื่อป้องกันและกำจัดโรคในดิน และใช้ในแต่ละระยะการเจริญของต้นถั่วตามปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาว
วันที่ | อายุ/ระยะการเจริญของต้นถั่ว | ขั้นตอนการดำเนินงาน |
1-7 | เตรียมหน้าดิน | 1. ไถหน้าดิน หลังจากนั้นปล่อยหน้าดินทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ 2. ปรับโครงสร้างดินด้วยปุ๋ยคอก เพิ่มความสมบูรณ์และความร่วนซุย 3. โรยไตรโคเดอร์มาบนหน้าดินแล้วคลุกให้เข้ากับหน้าดิน |
8-9 | ยกร่องและปูวัสดุป้องกันวัชพืช | 1. ไถยกร่องปลูก |
10 | เตรียมหลุมปลูกและหยอดเมล็ด | 1. ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมครึ่งช้อนแกง/หลุม และไตรโครเดอร์มา 1 ช้อนแกง/หลุม |
17 | ระยะต้นอ่อน 7 วัน | -เมื่อต้นอ่อนมีใบจริง เลือกต้นที่สมบูรณ์ 1-2 ต้น/หลุม ที่เหลือถอนทิ้ง |
25 | ต้นถั่วอายุ 7 วัน | ฉีดพ่นราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียม หากพบหนอนในแปลงให้ฉีดพ่นชีวภัณฑ์กำจัดหนอนร่วมด้วย |
28 | ต้นถั่วอายุ 18 วัน ระยะทำต้น | -ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ |
31 | ต้นถั่วอายุ 21 วัน | ฉีดพ่นราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียม หากพบหนอนในแปลงให้ฉีดพ่นชีวภัณฑ์กำจัดหนอนร่วมด้วย |
34 | ต้นถั่วอายุ 24 วัน | -ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ |
37 | ต้นถั่วอายุ 27 วัน ระยะทำดอก | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก |
40 | ต้นถั่วอายุ 30 วัน ระยะทำดอก | -ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ |
43 | ต้นถั่วอายุ 33 วัน ระยะทำดอก | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก |
46 | ต้นถั่วอายุ 36 วัน ระยะติดฝัก | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก |
49 | ต้นถั่วอายุ 39 วัน ระยะติดฝัก | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม |
52 | ต้นถั่วอายุ 42 วัน เริ่มเก็บผลผลิต | ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ |
55 | ต้นถั่วอายุ 45 วัน เริ่มเก็บผลผลิต | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก |
58 | ต้นถั่วอายุ 48 วัน เริ่มเก็บผลผลิต | ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบีเอ ให้ปุ๋ยและฮอร์โมนบำรุงต้นและดอก |
61 | ต้นถั่วอายุ 51 วัน เก็บผลผลิต | ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม |
64 | ต้นถั่วอายุ 54 วัน เก็บผลผลิต | ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบีเอ ให้ปุ๋ยและฮอร์โมนบำรุงต้นและดอก |
ทยอยเก็บผลผลิตทุก 2-4 วัน ไม่ปล่อยให้ฝักแก่คาต้น เก็บผลผลิตได้อีก 10-20 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล |
หมายเหตุ
- กรณีพบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชระบาดรุนแรง ควรปรับการฉีดพ่นจาก 3-5 วัน เป็นวันเว้นวัน จนกว่าการระบาดจะกลับสู่ภาวะปกติ
- ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจลดความถี่การฉีดชีวภัณฑ์ เน้นให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอกทุก 7-10 วัน จนต้นถั่วฝักยาวไม่สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว
- แปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี สามารถจัดวันฉีดสารเคมีได้ โดยงดฉีดพ่นสารเคมีในวันที่ฉีดพ่นชีวภัณฑ์และก่อนการเก็บเกี่ยว
เสียงสะท้อนจากเกษตรกร
“คนเป็นมะเร็งเยอะ เราปลูกผัก เราก็อยากกินของที่ปลอดภัย” คุณระเบียบ เพชรแอง เกษตรกร ต.ด่านทับตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี บอกถึงความตั้งใจผลิตพืชผักปลอดภัย โดยเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด
ด้วยความชอบเรียนรู้และทดลอง ทำให้แปลงผักของคุณระเบียบเป็นพื้นที่ศึกษาของหน่วยงานหลายแห่ง เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ได้เข้าร่วมทดลองแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสำหรับถั่วฝักยาวของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานกับการปลูกถั่วฝักยาว
“ฉีดชีวภัณฑ์ทุก 3 วัน เห็นผลนะ หนอนลดลง ใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผล ต้องไม่ให้เจอแสงแดด เพราะเชื้อจะตาย ต้องฉีดช่วงกลางคืน มีความชื้น”
ชีวภัณฑ์อาจใช้ทั้งปริมาณและความถี่ที่มากกว่าสารเคมี แต่เมื่อแลกกับ “ความปลอดภัย” คุณระเบียบยังพร้อมที่จะลงทุนกับชีวภัณฑ์ “ต้นทุนอาจจะเยอะ แต่แลกกับความปลอดภัย ก็ยอม คนงานที่ฉีดปลอดภัย คนกินก็ปลอดภัย”
ขณะที่คุณสมบูรณ์ เพชรแอง สามีคุณระเบียบ เสริมว่า ชีวภัณฑ์ฉีดบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย และถ้าให้ผ่านระบบการให้น้ำ เช่น น้ำหยด สเปรย์หมอก ช่วยลดต้นทุนค่าแรงฉีดพ่นได้ นอกจากนี้การจัดการแปลงมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น การใช้พลาสติกคลุมแปลงช่วยป้องกันวัชพืช ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัด ลงทุนครั้งเดียวแต่ใช้ได้หลายรอบ
หลังจากร่วมทดลองแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสำหรับถั่วฝักยาวแล้ว คุณระเบียบ-คุณสมบูรณ์ ยังคงปฏิบัติตามปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาว และต่อยอดทดลองใช้กับพืชผักชนิดอื่น เช่น ผักชีล้อม กะหล่ำปลี ด้วยเป้าหมาย “สร้างความปลอดภัยต่อทั้งคนปลูกและคนกินผัก”
# # #