หลังจากที่ได้มีการก่อตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอย” ในปี 2526 โดยมีบทบาทส่งเสริมการปลูกพืชในระบบเกษตรอุตสาหกรรมและเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแปรรูปและจำหน่าย ส่งผลให้ลดการอพยพของชาวบ้านไปหางานทำนอกพื้นที่ได้ เกิดกลไกการสร้างและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว และลดการย้ายพื้นที่ปลูก โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับการจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งส่งผลต่อการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชน
ในช่วงปี 2538-2550 โรงงานหลวงฯ เต่างอย เปลี่ยนการดำเนินงานมาอยู่ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยจัดตั้งเป็น “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินงานโดยใช้กลไกทางธุรกิจเป็นแนวทาง ส่งผลให้ความร่วมมือกับเกษตรกรสมาชิกและชุมชนลดลง และผลการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบ จึงมีแนวพระราชดำริให้ดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยให้ใช้โรงงานหลวงฯ เต่างอย เป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่ หารูปแบบและวิธีที่เหมาะสมเพื่อสร้างความสามารถให้กับชุมชนเป็นผู้ดำเนินการโรงงานหลวงฯ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนอำเภอเต่างอย” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ความรู้ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชุมชน เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนอำเภอเต่างอย มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ผ่านโครงการต้นกล้าอาชีพ ตัวอย่างเทคโนโลยีที่นำไปเผยแพร่ อาทิ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เทคโนโลยีการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เทคโนโลยีสารชีวินทรีย์ป้องกันศัตรูพืช เป็นต้น เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานระดับชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเต่างอย ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองที่ตรงกับความต้องการของชุมชน และเป็นศูนย์ประสานงานสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชนและหน่วยงานภายนอก โดยใช้โรงงานเป็นกลไกของชุมชนในการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่รอบเขาภูพาน 3 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม และ มุกดาหาร
1. ส่งเสริมการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มประกอบอาชีพ จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี บริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งการดูงาน เพื่อยกระดับการผลิตให้สูงขึ้นและได้รับมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับ
2. พัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองที่ตรงกับความต้องการของชุมชนและเป็นศูนย์ประสานงานสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชนและหน่วยงานภายนอก สวทช. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้สวนแสงประทีป จ.น่าน และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จ.กาญจนบุรี จัดทำแปลงสาธิตด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและเยาวชนในชุมชนและในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แปลงสาธิตการปลูกพริก และแปลงสาธิตการปลูกมันสำปะหลัง โดยใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ได้แก่ บิววาเรียป้องกันเพลี้ยแปลง ร่วมกับการให้น้ำในระบบน้ำหยด ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมี เป็นต้น
3. สร้างเครือข่ายการทำงานโดยประสานงานร่วมกับจังหวัด ประชาคมสกลนคร จัดตั้ง บริษัทพัฒนาธุรกิจเพื่อการเกษตร (Social Enterprise) เป็นตัวกลางเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างเอกชนและชุมชน ที่ผ่านมาบริษัทฯ เป็นตัวกลางในการรับซื้อพริกยอดสนเข็ม 80 จากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเต่างอยและพื้นที่ใกล้เคียง ส่งให้บริษัท บางกอก แล๊ป เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้พริกยอดสนเข็ม 80 เป็นพริกที่ สวทช. สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาสายพันธุ์ และบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ผลิตและแปรรูปในเชิงการค้า
4. ปรับปรุงและพัฒนา “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเฉลิมพระเกียรติบ้านนางอย” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ จัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านการพัฒนาชนบท รวมทั้งศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่
ตั้งแต่ปี 2560 สวทช. ได้ดำเนินโครงการร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ฯ มาอย่างต่อเนื่อง เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 7 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ได้แก่ น้ำหม่อนพร้อมดื่ม น้ำกระเจี๊ยบพร้อมดื่ม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) กล้วยอบแห้งที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แชมป์เปี้ยน ได้มาตรฐาน อย. โดยได้รับการสนับสนุนตู้อบไฟฟ้าและแก๊สเป็นพลังงาน จาก สวทช. และ มจธ. พร้อมด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จากการเข้าร่วมโครงการ ITAP มหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม และเครื่องวัดความชื้นและวัดค่า aw (activity water) ผลิตภัณฑ์อบแห้ง ในการผลิตและการเก็บรักษาที่มีปริมาณความชื้นอยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อให้รสชาติ ความสม่ำเสมอ รูปลักษณ์ และอายุการเก็บรักษาที่ดีที่สุด
2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกบ้านนางอย-โพนปลาโหล ประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตข้าวฮางกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลิตเป็นข้าวกล้องงอก (Gaba rice) ที่มีวิตามินและสาร Gama-amino butyric acid มากกว่าข้าวกล้องธรรมดาถึง 15 เท่า ช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวมันปู
3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมคราม-สีธรรมชาติ ฟื้นฟูพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อีกทั้งยังพัฒนาการย้อมคราม การตัดเย็บเสื้อ การออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงผ้ารูปเต่า หมอนหนุนเด็ก ซองใส่โทรศัพท์มือถือ
4. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านกระเช้าเถาวัลย์บ้านเต่างอยเหนือ ผลิตสินค้ารักษ์ธรรมชาติ เช่น กระเช้า ใช้กิ่งไม้ยูคาลิปตัสและเครือซูด ซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่
5. กลุ่มอาชีพผู้ผลิตไม้กวาดบ้านเต่างอยใต้
6. กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และเทคโนโลยีการผลิตข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร
7. กลุ่มชุมชนผู้ปลูกพืชแปลงเกษตรนาฮี พัฒนาคุณภาพการผลิตพืชทั้งในและนอกโรงเรือน โดยปลูกมะเขือเทศเชอรี่พันธุ์น้ำบุศและมณีทับทิม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการจัดการดิน ใช้ระบบน้ำหยด ระบบน้ำโซล่าปั้ม และปุ๋ยอินทรีย์