“ใช่ผึ้งมั้ย” “เก็บน้ำผึ้งขายได้มั้ย” คำถามยอดนิยมที่คุณวสันต์ ภูผา เกษตรกรสวนผลไม้และผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงชันโรง ได้ยินเสมอจากผู้มาเยี่ยมชม “ศูนย์สาธิตการเพาะเลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว)” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แต่กว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชันโรงและมีศูนย์สาธิตเพาะเลี้ยงผึ้งจิ๋วแห่งใหญ่นี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องจิ๋วๆ

จาก “ผึ้ง” สู่ “ชันโรง” ตอบโจทย์สวนผลไม้

 

เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไปที่ต้องการให้สวนผลไม้ตนเองมีผลผลิตเพิ่ม เมื่อรู้ว่าสวนลิ้นจี่ในพื้นที่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเลี้ยง “ผึ้ง” ช่วยผสมเกสร คุณวสันต์ไม่รีรอที่จะเรียนรู้และลงทุนร่วมครึ่งล้านบาทเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ของตน แต่กลับไม่เป็นดังที่คาดหวัง ด้วยพฤติกรรมของผึ้งที่จะผสมพันธุ์บนอากาศ จึงกลายเป็นอาหารอันโอชะของนกประจำถิ่นอย่าง “นกจาบคา”

แม้สูญเงินจำนวนมากไปแล้ว แต่ด้วยความต้องการเพิ่มผลผลิตให้สวนผลไม้ตนเอง คุณวสันต์ย้อนนึกถึงแมลงผสมเกสรอีกชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก

“รู้ว่าชันโรงเป็นแมลงผสมเกสร ก็ไปแคะรังชันโรงที่อยู่ใต้เตียงนอนได้มา 4 รัง เอามาใส่รังที่เหลือจากการเลี้ยงผึ้ง ผ่านไป 6 เดือนจำนวนเพิ่มขึ้นเต็มรัง ก็ลองแยกรังเอง”

แม้จะรู้ว่าชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรตระกูลเดียวกับผึ้ง เพียงแต่ไม่มีเหล็กไน แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต การหาอาหาร หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ ก็เป็นเรื่องใหม่ที่คุณวสันต์ต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับผึ้งจิ๋วชนิดนี้ถึง 3 ปี

“นางพญาชันโรงกลางคืนจะไม่นอน จะไข่ในรังตลอด ชันโรงงานจะหาอาหารในรัศมี 300 เมตร ออกผสมเกสรตอนเช้าประมาณ 6 โมง ถ้าหน้าหนาวจะออก 7 โมง แต่ละตัวบินออกไปผสมเกสรวันละไม่น้อยกว่า 16 เที่ยว ถ้าแดดดี อากาศดี จะออกบินมากกว่านั้น แล้วจะกลับเข้ารังตอนมืด ที่สำคัญชันโรงไม่เลือกชนิดดอกไม้และไม่ทิ้งรัง”

จากการสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดชนิดที่ว่าคลุกอยู่กับชันโรงทั้งวันทั้งคืน คุณวสันต์พบว่า อาหารหลักของชันโรงเป็นเกสรดอกไม้ 80% ขณะที่กินน้ำหวานเพียง 20% และนั่นได้ตอบโจทย์ความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนมะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ของคุณวสันต์อย่างชัดเจน และผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่หวัง

“ชันโรงเป็นแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตามบ้านเรือนไทยก็มี คนสมัยก่อนไม่ชอบชันโรงเพราะว่ามันดุ จะกัดแต่ไม่มีเหล็กไนนะ และยางจากชันโรงจะเลอะเทอะตามบ้าน แต่ปัจจุบันคนเริ่มหันมาเลี้ยงเพื่อผสมเกสร”

เมื่อ “ผึ้งจิ๋ว” สร้างรายได้

 

เริ่มต้นจากความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนให้ตัวเองขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยงชันโรง โดยให้บริการเช่ารังชันโรงและจำหน่ายรังชันโรง รวมถึงต่อยอดผลพลอยได้จากรังชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ ซึ่งยอมเสียค่าเช่ารังหลักหมื่นต่อรอบการผสมเกสร เพื่อแลกกับผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“เคยมีเจ้าของสวนมะม่วงเช่ารังไป 100 รัง 10 วัน ค่าเช่ารังละ 30 บาท/รัง/วัน จากผลผลิตที่เคยได้ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นล้านบาท ผลผลิตสูญเสียน้อยลง คุณภาพดีพร้อมส่งออกได้ หรือสวนเงาะเดิมได้ 7-8 แสน แต่พอใช้ชันโรง ได้ 4 ล้านบาท”

เริ่มต้นจากความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนให้ตัวเองขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยงชันโรง โดยให้บริการเช่ารังชันโรงและจำหน่ายรังชันโรง รวมถึงต่อยอดผลพลอยได้จากรังชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ ซึ่งยอมเสียค่าเช่ารังหลักหมื่นต่อรอบการผสมเกสร เพื่อแลกกับผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“เคยมีเจ้าของสวนมะม่วงเช่ารังไป 100 รัง 10 วัน ค่าเช่ารังละ 30 บาท/รัง/วัน จากผลผลิตที่เคยได้ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นล้านบาท ผลผลิตสูญเสียน้อยลง คุณภาพดีพร้อมส่งออกได้ หรือสวนเงาะเดิมได้ 7-8 แสน แต่พอใช้ชันโรง ได้ 4 ล้านบาท”

คุณวสันต์จะทำสัญญากับผู้เช่าในเรื่องการดูแลและรักษารังชันโรง หากชันโรงตายจากการฉีดยาฆ่าแมลงหรือรังชันโรงหาย ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มรังละ 2,000 บาท นอกจากการให้เช่ารังแล้ว หากเกษตรกรต้องการซื้อรังชันโรง คุณวสันต์จะขายให้ในราคา 1,500 บาท/รัง

“ถ้าอย่างเขาเช่ารัง ผมจะไปวางตำแหน่งรังให้ โดยคำนวณจากพื้นที่สวน หาจุดกึ่งกลางแปลง แล้วกระจายวางรังชันโรงไปแต่ละด้าน ซึ่งเจ้าของสวนจะต้องไม่เคลื่อนย้ายตำแหน่งของรังชันโรงที่วางให้ เพราะชันโรงจะจำทางเข้ารังไม่ได้ และจะส่งผลต่อผลผลิตของสวน โดยทั่วไปถ้าเป็นสวนที่ปลูกผลไม้เต็มพื้นที่ จะใช้รังชันโรงไม่ต่ำกว่า 10 ลัง/ไร่ ส่วนคนที่ซื้อขาด ต้องเป็นพื้นที่ที่มีอาหารให้ชันโรงตลอด เพราะถ้าเป็นสวนที่มีผลไม้ติดดอกครั้งเดียวต่อปี ชันโรงจะขาดอาหารและตาย”

 

นอกจากรายได้จากการให้บริการเช่ารังแล้ว ผลผลิตที่เกิดขึ้นรังชันโรงไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้ง และชัน (propolis) เป็นผลพลอยได้ที่คุณวสันต์ได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “ภูผา” ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้ง สบู่ และยาหม่อง

น้ำผึ้งชันโรงรสชาติจะออกเปรี้ยวและมีกลิ่นตามผลไม้ที่ชันโรงไปผสมเกสร และด้วยปริมาณน้ำผึ้งที่ได้แต่ละครั้งไม่มาก เนื่องจากชันโรงกินน้ำหวานเพียง 20% บวกกับงานวิจัยที่พบสารสำคัญในน้ำผึ้งชันโรง ทำให้ราคาของน้ำผึ้งชันโรงสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท นอกจากนี้ชันของชันโรงมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และสารต้านอนุมูลอิสระต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยับยั้งการอักเสบได้ดี

“ผมเน้นให้เกษตรกรนำชันโรงไปเพิ่มผลผลิตในแปลง น้ำผึ้งหรือชันเป็นแค่ผลพลอยได้ อย่างเกษตรกรที่ซื้อรังไป ถ้าจะแปรรูปด้วย ผมก็ให้ความรู้หมด ไปทำขายสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ หรือจะส่งเป็นวัตถุดิบมาให้ผม ผมก็รับซื้อหมด”

“อนุรักษ์” ด้วย “ใจรัก”

เมื่อได้เรียนรู้รู้จักผึ้งจิ๋วอย่างใกล้ชิดกลายเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้น คุณค่าที่มีอยู่ในตัวแมลงผสมเกสรชนิดนี้ทำให้คุณวสันต์ศึกษาสายพันธุ์ต่างๆ ของชันโรงและพยายามรวบรวมสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยให้มากที่สุด รวมถึงค้นคว้าหาวิธีแยกขยายรังด้วยตัวเอง

“ทั่วโลกมีประมาณ 140 สายพันธุ์ ในประเทศไทยเหลือไม่ถึง 40 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความต่างกันบ้างที่ขนาดและความชอบอาหาร อย่างสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่จะเน้นเก็บน้ำหวาน เช่น พันธุ์ปากแตร พันธุ์อิตาม่า สายพันธุ์ตัวเล็กผสมเกสร เช่น พันธุ์ขนเงิน พันธุ์หลังลาย และยังมีพันธุ์สวยงามที่เลี้ยงไว้ดูเล่น อย่างพันธุ์คิชกูฎ”

เมื่อคุณวสันต์ได้รับชันโรงสายพันธุ์ต่างๆ จากชาวบ้านหรือเกษตรกรแล้ว เขาจะเขียนไว้หน้ารังว่าเป็นพันธุ์อะไร ได้มาจากที่ไหน เมื่อไหร่ หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์นั้น และทดลองเพาะเลี้ยงขยาย เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์เหมือนอดีต

“ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรที่พบได้ตามธรรมชาติ มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้ เหมือนอย่างพันธุ์สิรินธรที่ปัจจุบันไม่พบแล้ว” 

มองอนาคตเพาะเลี้ยง “ชันโรง”

เกือบครึ่งชีวิตนับแต่เริ่มทำความรู้จักชันโรงอย่างจริงจัง จนขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยงชันโรงและถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชันโรงคนหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ คุณวสันต์มองว่ายังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเรียนรู้ต่ออีก โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงขยายนางพญาชันโรง คุณวสันต์ได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการเพาะเลี้ยงนางพญาชันโรงกี่งธรรมชาติจาก รศ.ดร.สมนึก บุญเกิด และคุณพุทธวัฒน์ แสงสุริโยทัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก สวทช. จะทำให้สามารถเพาะเลี้ยงขยายนางพญาชันโรงได้เร็วขึ้นกว่าตามธรรมชาติและได้จำนวนมาก นอกจากนี้คุณวสันต์ยังมองถึงการแปรรูปผลผลิตจากชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“ก็จะเพาะเลี้ยงชันโรงต่อไปเรื่อยๆ ให้เกษตรกรเอาไปใช้เพิ่มผลผลิต ใครเอาไปเลี้ยงได้เอาไป ช่วยขยายพันธุ์ จะได้ไม่สูญพันธุ์ ถ้าคนที่สนใจจะเพาะเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพ ความรู้ก็ต้องมี แต่สิ่งสำคัญสุดคือ ต้องใจรัก”   

แม้ทุกวันนี้ “ชันโรง” หรือผึ้งจิ๋ว จะเพิ่มผลผลิตให้กับสวนผลไม้ของคุณวสันต์ ต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจและอาชีพเพาะเลี้ยงชันโรง สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับครอบครัว แต่มากกว่าเงินทองที่ได้รับ คุณวสันต์บอกทิ้งท้ายว่า “ได้ความสุข” จากผึ้งจิ๋วนี้

“ชันโรง”: ผึ้งจิ๋ว รายได้แจ่ม