“การทำสินค้าให้มีมาตรฐาน คือ การยกระดับผลิตภัณฑ์ของเราให้ดียิ่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค” สุรศักดิ์ พุกกะเปรมะ เจ้าของฟาร์มชันโรงสันป่าตองและสวนเกษตรผสมผสาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บอกถึงเหตุผลที่เขาพัฒนาฟาร์มชันโรงให้ได้มาตรฐาน GAP* จนเป็นฟาร์มชันโรงแห่งแรกของภาคเหนือที่ได้มาตรฐานนี้

*ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ภายใต้โครงการการส่งเสริมกระบวนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรชุมชน เพื่อขับเคลื่อน BCG สาขาท่องเที่ยว

ไม่เพียงเป็นฟาร์มชันโรงที่โดดเด่นด้วยการเลี้ยงชันโรงสายพันธุ์ท้องถิ่นในสวนเกษตรผสมผสาน มีต้นมะม่วงที่คัดสรรสายพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และยังอนุรักษ์สายพันธุ์ชันโรงบางสายพันธุ์ เช่น ชันโรงถ้วยดำ สายพันธุ์ทางเหนือ (Tetragonula testaceitarsis) ที่กำลังสูญหายจากไฟป่าและการตัดไม้ทำลายป่า ที่นี่จึงพร้อมเป็นแหล่งศึกษาวิจัยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากชันโรง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ สุรศักดิ์ ต้องสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาไม่น้อย

สุรศักดิ์ เก็บหอมรอมริบจากสายงานบริการนักท่องเที่ยวและงานมัคคุเทศก์กว่า 20 ปี สะสมเป็นเงินทุนทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานบนพื้นที่ 7.5 ไร่ ก่อนจะเพิ่มเป็น 9 ไร่ในปัจจุบัน โดยนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่ การผลิตและการตลาด ที่ไม่เน้นผลิตปริมาณมากและไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง “แค่มีศักยภาพผลิตได้ ปลูกเอง ทำเอง ถึงจะได้เงินน้อย แต่ภูมิใจ” คือสิ่งที่เขาตั้งใจไว้

เกษตรผสมผสานที่มีทั้งนาข้าว ปลูกผัก ไม้ผล เลี้ยงเป็ดและไก่ อาศัยหาความรู้จากหลายแห่งทั้งหน่วยงานเกษตรของภาครัฐและมหาวิทยาลัย รายได้หลักในช่วงแรกของ สุรศักดิ์ มาจากการเลี้ยงเป็ดเทศบาบารี่ (เป็ดเนื้อ) ก่อนจะเปลี่ยนเป็นรายได้จากสวนผสมผสาน

“ไม้ผลกว่าจะให้ผลผลิตก็ 3-4 ปี ผมก็ศึกษาแมลงผสมเกสรที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งผึ้งและชันโรง ถ้าผึ้งเลี้ยงก็มีปัญหาระยะการหากินที่ไกล ต้องย้ายรังไปตามแหล่งอาหาร น้ำหนักต่อรังมากและต้องเลี้ยงปริมาณเยอะ ส่วนชันโรงหากินระยะ 300-500 เมตร การจัดการไม่ยาก ดูแลง่ายกว่าและน้ำผึ้งราคาสูง”

หลังศึกษาหาข้อมูลแล้ว สุรศักดิ์ เข้าอบรมการเลี้ยงชันโรงถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงไปถึงแปรรูปที่ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ซึ่งเปิดอบรมเพียงปีละครั้ง พร้อมๆ กับหาความรู้เพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อบวกกับประสบการณ์การทำงานกับต่างชาติทำให้เขามองเห็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากชันโรงมากกว่าเพิ่มผลผลิต เขาจึงไม่ได้ปลูกไม้ผลไปขาย แต่ขายชันโรงและผลผลิตจากชันโรง นั่นคือ น้ำผึ้ง “ที่นี่ทำแปรรูปมะม่วงแช่น้ำผึ้งชันโรงอบแห้ง เราเน้นที่น้ำผึ้งเพราะไม่มีใครทำ”

ความรู้ที่อัดแน่นทำให้ สุรศักดิ์ ออกแบบปลูกพืชที่เป็นแหล่งอาหารให้ชันโรงและเป็นพืชที่ให้สารสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพน้ำผึ้งชันโรงที่ได้ขึ้นชื่อว่าอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

“แนวกันชนกับพื้นที่ข้างเคียง ผมปลูกมะพร้าว ให้ดอกทั้งปี ใต้ต้นมะพร้าวเป็นกล้วย ให้ยางและดอก ปลูกมะม่วงซึ่งมีสารฟลาโวนอยด์สูง และปลูกหลายสายพันธุ์เพราะแต่ละสายพันธุ์ออกดอกต่างเวลากัน ข้างต้นมะม่วงปลูกต้นเสม็ดขาว ซึ่งมีสารฟินอลิกสูง คัดสรรดอกไม้ที่มีสีเหลืองเพราะชันโรงและผึ้งป่าจะชอบดอกไม้สีนี้เป็นพิเศษ เราต้องศึกษาด้วยว่าต้นไม้หรือดอกไม้ชนิดไหนออกดอกเดือนไหนบ้าง แล้วนำมาปลูกเป็นต้นไม้หลักหรือปลูกแซมแนวกันชน จะเป็นแหล่งอาหารให้ชันโรงได้ทั้งปี ทำให้เขาไม่ทิ้งรังและทำให้วงจรชีวิตของเขาพัฒนาต่อเนื่อง แหล่งอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยกว่าไปกว่าพื้นที่ปลอดสารเคมีทุกชนิด”  

แม้จะมีความรู้พร้อม แต่เมื่อลงมือเลี้ยงจริงจัง สุรศักดิ์ กลับพบปัญหารังล่ม เพราะแยกไม่เป็น เขาหาความรู้เพิ่มเติมและลองผิดลองถูกอีกร่วมปี จนสามารถขยายรังจาก 10 รัง เป็นหลายร้อยรังในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างรายได้จากการขายรังชันโรงให้ชาวสวนที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนอะโวคาโดและแมคคาเดเมีย

“ผมจะถามข้อมูลคนที่ต้องการซื้อก่อน ปลูกอะไร พื้นที่เป็นแบบไหน เพื่อเลือกพันธุ์ชันโรงที่เหมาะสมให้ เช่น พื้นที่ตรงนี้สูงจากระดับน้ำทะเล 500-600 เมตร เหมาะกับพันธุ์ขนเงิน (Tetragonula Pagdenii) พันธุ์รุ่งอรุณ (Tetragonula Lavicips) แต่พันธุ์ขนเงินขยัน ให้ผลผลิตมาก ขยายพันธุ์ง่าย ส่วนรุ่งอรุณ รังเป็นชั้นสวย แต่จัดการยากกว่า”     

นอกจากเลือกสายพันธุ์ชันโรงที่เหมาะสมและให้คำแนะนำการเลี้ยงชันโรงแล้ว สุรศักดิ์ ยังให้ความสำคัญถึงวัสดุที่ใช้เลี้ยงชันโรง ทั้งไม้ที่ทำกล่องรังต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น กระถิน เทพา รังชันโรงต้องหนาอย่างน้อย 1 นิ้ว เพราะชันโรงไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในรังได้เหมือนผึ้ง ด้วยขนาดลำตัวที่เล็กและประชากรน้อยกว่า หรือการใช้จาระบีฟู้ดเกรดทาเคลือบขาตั้งกล่องรังที่เป็นเหล็ก เพื่อป้องกันมดและแมลงชนิดอื่นๆ เข้ารัง

เมื่อน้ำผึ้งชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ สุรศักดิ์ การตรวจวิเคราะห์สารสำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยืนยันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เขาได้ทุนสนับสนุนการวิเคราะห์ทดสอบจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ผ่านการเชื่อมโยงของ สท. ทำให้ได้ข้อมูลคุณค่าโภชนาการที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

มะม่วงแช่น้ำผึ้งชันโรงอบแห้ง ลำไยแช่น้ำผึ้งชันโรงอบแห้งและการจำหน่ายรังชันโรง เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างรายได้ให้ สุรศักดิ์ ปีละไม่น้อยกว่า 300,000 บาท เป็นรายได้ที่เกิดจากการความมุ่งมั่นศึกษา เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเพื่อพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ

“เสน่ห์ของการเลี้ยงชันโรงคือ ไม่ต่อยและจัดการง่าย ถ้าคุณรักชันโรง ชันโรงก็จะรักคุณ แล้วสักวันเขาจะเลี้ยงเรา” …เหมือนดังที่ สุรศักดิ์ ได้รับ

# # #

ฟาร์มชันโรงสันป่าตองและสวนเกษตรผสมผสาน
ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ 099 324 8819
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

ฟาร์มชันโรงสันป่าตองและสวนเกษตรผสมผสาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการเกษตรที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยง “ชันโรง” หรือผึ้งจิ๋ว เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากการเลี้ยงผึ้งจิ๋วที่คืนกลับเป็นรายได้ไม่น้อย

สร้างอาชีพ สร้างธุรกิจจาก ‘ชันโรง’