“อาชีพเราคือ เกษตรกร เราพัฒนาอาชีพโดยมุ่งเน้นที่ระบบนิเวศเป็นหลัก” ประโยคสั้นๆ แต่บอกถึงการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีเป้าหมายของ จิราภา พิมพ์แสง ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยฆ้องชัยพัฒนา และประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

ย้อนไปกว่า 10 ปี พื้นที่ตำบลแห่งนี้เคยมี “ดงสวนผึ้ง” ที่ จิราภา ยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่เข้าไร่มันสำปะหลังและต้องคอยหลบหลีกผึ้ง

“ที่นี่เคยเป็นป่ามีผึ้งเยอะมาก ชาวบ้านตีผึ้ง เก็บน้ำผึ้งขายกัน สมัยก่อนหาง่าย แต่หลังๆ หายากขึ้น” จิราภา ย้อนความถึงป่าที่เคยเป็นบ้านหลังใหญ่ของผึ้ง ด้วยวิธีการเก็บน้ำผึ้งของชาวบ้านที่รมควันแล้วตัดทั้งรัง บวกกับการเช่าพื้นที่ปลูกอ้อยในระบบเคมี ส่งผลให้ประชากรผึ้งลดน้อยลง จึงเป็นจุดเริ่มให้เธอต้องการฟื้น “ดงสวนผึ้ง” เริ่มต้นจากปลูกป่าเพื่อสร้างบ้านให้ผึ้ง โดยชักชวนญาติพี่น้องปลูกป่าในพื้นที่ตนเองคนละงานคนละไร่แทนการปล่อยเช่า เมื่อเริ่มได้พื้นที่ป่าคืนมา แล้วจะทำอย่างไรให้ผึ้งกลับมา เป็นโจทย์ที่เธอต้องการหาคำตอบ

“นั่งฟังอาจารย์แล้วรู้สึกว่าทำไมผึ้งขยัน มีประโยชน์เยอะ แต่ทำไมคนไม่รู้ แล้ววิธีเก็บน้ำผึ้งที่พ่อแม่หรือคนรุ่นเราเก็บ มันไม่ใช่ หันไปมองหน้าน้องที่ไปด้วยกัน เจ้าสิเป็นตัวฆ่าผึ้ง” จิราภา เล่าถึงเมื่อครั้งร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเลี้ยงผึ้งและชันโรงเพื่อการผลิตน้ำผึ้งและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร” จัดโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เธอและสมาชิกกลุ่มฯ อีกสามคนได้เปิดโลกกว้างของผึ้งกับ ผศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี ณ อุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี ไม่เพียงได้คำตอบที่จะทำให้ผึ้งกลับมา หากยังเป็นจุดเริ่มขับเคลื่อนเรื่องผึ้งและชันโรงสู่ชาวบ้าน

“เราต้องการอนุรักษ์และเผยแพร่วิธีที่ถูกต้อง ให้สมาชิกพาชาวบ้านตีผึ้งอย่างถูกวิธี เรารับย้ายรังผึ้งให้  เวลาไปย้ายรังให้ชาวบ้าน ถ้าเขาไม่เอา เราก็จะเก็บนางพญา รังและตัวเต็มวัยกลับมาเลี้ยงภายในพื้นที่เรา แต่ถ้าเขาจะเลี้ยง เราจะแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้”

นอกจากเติมเต็มความรู้เรื่องผึ้งแล้ว จิราภา และสมาชิก ยังได้รู้จัก “ชันโรง” หรือ “ขี้สูด” ที่พวกเธอมักคุ้น  และพบว่าเป็นแมลงผสมเกสรที่ตอบโจทย์การทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานของพวกเธอได้

“ผลผลิตฝรั่งได้ตลอดทั้งปี แต่ก่อนถ้าร้อนมาก็สลัดลูก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ ดกจนปวดหัว ผลผลิตสมบูรณ์ เรามีทางเลือกเยอะขึ้น เลือกผลผลิตที่ต้องการได้” จิราภา เล่าถึงการเข้ามาของชันโรงในสวนฝรั่งกิมจูของเธอ จากเดิมส่งจำหน่ายโรงพยาบาล 15 กก./สัปดาห์ แต่ทุกวันนี้เพิ่มเป็น 30 กก./สัปดาห์ และจำหน่ายทั่วไปได้อีก 30 กก./สัปดาห์ ผลผลิตได้น้ำหนักมากขึ้น ไม่ต่างจากแปลงของสมาชิกที่ปลูกมะม่วง ฟักทอง หรือข้าวโพด ที่ต่างได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสมบูรณ์

“กลุ่มเราทำเกษตรผสมผสาน มีปลูกพืชผักและผลไม้ เช่น มะเขือ พริก มะพร้าว มะนาว ฝรั่ง ผึ้งไม่ตอบโจทย์การทำเกษตรเท่าชันโรง ผึ้งไม่ค่อยอยู่ถาวรเหมือนชันโรง”

จากชันโรงพันธุ์ขนเงินหนึ่งรังที่ได้รับมา จิราภา ขยายรังเพิ่มจนมีไม่ต่ำกว่า 20 รัง และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ* โดยตั้งเป้าพัฒนามาตรฐานฟาร์มเลี้ยงต่อไป สำหรับน้ำผึ้งชันโรง เธอได้ส่งตรวจคุณภาพกับ ผศ.ดร.อรวรรณ และจำหน่ายให้ผู้สนใจ ขณะเดียวกันเธอได้ขยายความรู้การเลี้ยงชันโรงเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สมาชิกในกลุ่มฯ หรือเกษตรกรที่สนใจ

“เราจะช่วยกันแยกรัง เรียนรู้ฝึกทักษะด้วยกัน เพราะความรู้และความชำนาญจะได้ไม่อยู่กับคนๆ เดียว ถ้าใครสนใจอยากเลี้ยง ก็จะไปประเมินพื้นที่ ให้มีแหล่งอาหารพร้อมก่อนเอาไปเลี้ยง ให้เริ่มเลี้ยง 1 รังก่อน ถ้ารอดแล้วถึงเพิ่ม”

จันทร์สุดา วงษ์ศรี สมาชิกกลุ่มฯ เป็นอีกหนึ่งคนที่ก่อนจะได้ชันโรงไปช่วยเพิ่มผลผลิต เธอต้องมาฝึกฝีมือช่วย จิราภา แยกรัง ย้ายรังก่อน แต่นั่นก็ทำให้ฝรั่งในสวนของเธอที่เคยติดลูกบ้างไม่ติดลูกบ้าง กลับติดลูกมากขึ้น แม้อายุต้นยังน้อย แต่ให้ผลผลิตได้ถึง 20 กก./ต้น หรือ สุริยา นาสำแดง ที่ทำสวนผสมผสาน จากเดิมไม่มีชันโรง ได้ผลผลิตฝรั่งประมาณ 500-600 กก./ปี แต่หลังจากมีชันโรงเป็นตัวช่วย ผลผลิตฝรั่งได้ถึง 2 ตัน/ปี   

“ไม่ต้องห่วงว่าผลไม้จะติดดอกหรือลูกมั้ย ให้ชันโรงช่วย ได้ผลผลิตแน่” สุริยา ซึ่งมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานและปลูกป่ารวมกว่า 8 ไร่ ย้ำถึงตัวช่วยเพิ่มผลผลิตให้สวนตัวเอง ขณะเดียวกันเขายังได้ผึ้งกลับมาในพื้นที่ และมีรายได้จากสิ่งมีชีวิตที่กลับคืนสู่ป่าทั้งเห็ดและมดแดง ไม่ต่างจาก จันทร์สุดา ที่เห็ดโคน เห็ดถอบ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เธอบอกว่า ถ้าไม่ปลูกป่าและไม่ทำอินทรีย์ ก็จะไม่มีสิ่งเหล่านี้

“เราทำเกษตรอินทรีย์มุ่งไปที่ระบบนิเวศ พยายามทำให้ชุมชนเรามีระบบนิเวศที่ดี ชันโรงกับผึ้งทำให้เราเข้าใจงาน ศจช. ชุมชนมากขึ้นด้วย จากที่เคยคิดว่าทำและใช้ชีวภัณฑ์ก็จบแล้ว ได้ผลผลิตดีแล้ว ไม่ได้คิดไปถึงระบบนิเวศ พอมีชันโรง เขาเป็นตัวบ่งชี้ได้ ชันโรงรอด แมลงดีตัวอื่นก็รอด เวลาเราเผยแพร่การใช้ชีวภัณฑ์ก็จะไม่ใช่แค่ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี แต่ต้องให้สมดุลกับระบบนิเวศด้วย” จิราภา กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่เธอและสมาชิกทำบนเส้นทางของเกษตรอินทรีย์

* แมลงเศรษฐกิจที่เปิดรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด

วิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยฆ้องชัยพัฒนา
ต.ฆ้องชัย อ.ฆ้องชัยพัฒนา จ.กาฬสินธุ์
โทรศัพท์ 083 1101082
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567)

หนังสือ ‘พลังวิทย์’ เสริมศักยภาพเกษตรไทย

วิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยง “ชันโรง” หรือผึ้งจิ๋ว เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร 

‘ชันโรง’ สร้างระบบนิเวศเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร