“สมุนไพรอินทรีย์” สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรชีวภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 10,000 ชนิด โดยร้อยละ 15.5 ของชนิดสมุนไพร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งการสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรตั้งแต่แปลงปลูกถึงการแปรรูป เป็นสิ่งสำคัญที่จะหนุนเสริมศักยภาพของสมุนไพรไทยให้ได้ทั้งคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชนไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากรทางชีวภาพของไทย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชสมุนไพรอินทรีย์ให้กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ลำปางและตาก เพื่อยกระดับการผลิตสมุนไพรให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ตามบริบทของชุมชน เรามองในแง่การพึ่งตนเอง ปลูกขมิ้นชันแล้วเอามาใช้ประโยชน์ทางยาในชุมชน ถ้าใช้เองได้และใช้ดีด้วย ปลายทางก็เป็นเศรษฐกิจได้ -อุทัย บุญดำ- ‘สมุนไพร’ เพื่อการพึ่งตนเอง วิถีของคนใต้คุ้นเคยกับพืชสมุนไพรทั้งตะไคร้ ขิง ข่า ขมิ้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในเครื่องแกงใต้ ชาวบ้านจึงมักปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน หรือปลูกแซมในสวนยางพารา “ศูนย์ฯ มาเน้นขับเคลื่อนสมุนไพรเมื่อช่วงปี 2562 จัดเวทีแลกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เชิงการแพทย์จากภูมิปัญญา แล้ว สวทช. ได้เข้ามาทำในเชิงงานวิจัยไปด้วย