“ผ้าจกโหล่งลี้” ผ้าทอโบราณลายจกของชุมชนโหล่งลี้ที่สืบเชื้อสายไทยญวน ด้วยเทคนิคการขึ้นลายแบบ “จก” และ “ยกผสมจก” สร้างลวดลายและสีสันที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวลำพูนภาคภูมิใจ โดยมี กลุ่มทอผ้าบ้านปวงคำ ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน และเป็นศูนย์เรียนรู้หม่อนไหมผ้าจกโหล่งลี้ รับหน้าที่สืบสานสู่คนรุ่นหลังผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ในครัวเรือน “ปัจจุบันผ้าซิ่นตีนจกมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ ซึ่งผ้าจกโหล่งลี้พบได้ที่นี่ที่เดียว เป็นลายที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ปู่ย่าตายายสร้างสรรค์ลวดลายจากจินตนาการไม่มีแบบหรือแม่พิมพ์ การขึ้นลายใช้ทักษะและประสบการณ์เฉพาะของผู้ทอ” สุนี ทองสัมฤทธิ์ ข้าราชการครูเกษียณผู้รับบทบาทรองประธานกลุ่มฯ บอกเล่าถึงการสืบค้นลายผ้าจกโบราณประจำถิ่น ซึ่งกลุ่มฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลตำบลลี้ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน รวบรวมและจัดเก็บไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมกับแกะลายการทอให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ การทอผ้าทอลายจกของกลุ่มฯ ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีต จึงใช้เวลาทอประมาณ 2-4 เดือน ซึ่งผ้าซิ่นลายจก 1 ผืน