เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 นางณัฐชลธร ชยุตพงค์พันธุ์ นักวิชาการ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และคณะทำงาน จัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ “การผลิตและการใช้ประโยชน์แมลงทหารดำ (Black Soldier Fly: BSF) เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์” ณ ข่วงชีวิตวิถียั่งยืน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่-ไก่พื้นเมือง ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐจากจังหวัดลำปางและเชียงใหม่เข้าร่วม 70 คน กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงหนอน BSF จากเกษตรกรแกนนำวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค การศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติ เช่น เตรียมอาหารสำหรับล่อแมลง คัดแยกหนอน BSF ทั้งนี้ สท. ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
‘ไข่ไก่อารมณ์ดี’ จุดเริ่มต้นล่าฝันเพื่อชุมชน
ใช้หนอนเป็นอาหารเสริมให้ไก่ สิ่งที่เห็นคือเราได้ไข่มากขึ้น ฟองโต เปลือกหนา -อดิศักดิ์ ต๊ะปวน- จากวันที่ยังรวมตัวเป็น “กลุ่มเล่าฝัน” ตามประสาเด็กหนุ่มที่ฝันจะกลับมาสร้างอาชีพของตัวเองในชุมชนและพัฒนาบ้านเกิดไปด้วย พวกเขาเติบโตและพร้อมเปลี่ยนความฝันให้เป็นจริง การรวมตัวกันอีกครั้งในปี พ.ศ.2562 จึงเกิดขึ้น “หลังจากแต่ละคนหมดสัญญาจ้างแรงงานที่ต่างประเทศก็กลับมาเจอกันมาพูดคุยกันอีก หลายคนเริ่มทำตามความฝันตัวเองแล้ว ก็ชวนกันคิดจริงจังที่จะทำความฝันร่วมกันให้ชุมชน โดยตกลงเริ่มจากการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่ง เป็นอาหารที่ทุกบ้านต้องกิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจะซื้อง่ายขายคล่อง” ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย แกนนำกลุ่มแม่ทาล่าฝันและประธานกลุ่มแม่ทาออร์แกนิค ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ย้อนความถึงที่มาของกลุ่มและจุดเริ่มของการเลี้ยงไก่ไข่ ชุมชนแม่ทาเป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์มายาวนาน แต่ยังไม่มีผลผลิตไก่ไข่ปลอดภัย กลุ่มฯ จึงต้องการผลักดันการเลี้ยงไก่ไข่ให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างน้อยได้ไข่ที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือก็ขายในชุมชนหรือส่งขายในตัวเมือง ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นโครงการและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ “เราตั้งเป้าการทำงานของโครงการให้เกิดการเกื้อหนุนอาชีพของคนในชุมชน มีกลุ่มคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ส่งให้เราเพื่อเป็นอาหารให้ไก่ และมีกลุ่มเลี้ยงหนอนเอามาขายให้กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ เนื่องจากอาหารสัตว์อินทรีย์หายากและราคาแพง” หนอนที่ยุทธศักดิ์พูดถึง