สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บูรณาการการใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อคุณงามความดีแก่บุคคลต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงหนือ จึงได้เสนอชื่อรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง” โดยมอบขึ้นในงาน “สวทช.วิทย์สัญจร: วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” ในปี 2561 งาน “สวทช. วิทย์สัญจร” ที่จังหวัดอุดรธานี สวทช. ได้มอบรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง สาขาพัฒนาสังคม” แก่ คุณกัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านบ่อเหมืองน้อย อ.นาแห้ว จ.เลย ผู้นำเกษตรกรที่เข้มแข็งเรียนรู้การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ร่วมกับศูนย์ไบโอเทค สวทช. และมหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลิตสตรอว์เบอร์รี่ขายด้วยตนเอง พร้อมทั้งบุกเบิกด้านการตลาดจนทำให้ชุมชนสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รี่ขายเกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน 1.4 ล้านต่อปี จนเป็นที่มาของคำว่า “สตรอว์เบอร์รี่แดนอีสาน”
จุดเปลี่ยนชีวิต..จุดพลิกเกษตรกร
อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลติดชายแดนอันดับต้นๆ ของประเทศ หากเดินทางต่อตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1328 จะยิ่งเข้าใกล้แม่น้ำเหืองซึ่งคั่นพรมแดนระหว่างไทยและ สปปป.ลาว เป็นที่ตั้งของบ้านห้วยน้ำผักและบ้านบ่อเหมืองน้อยซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ขอจัดตั้งหลังเสร็จศึกร่มเกล้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมกับรับสมัครทหารกองหนุนเข้ามาอยู่หมู่บ้านละ 75 ครอบครัว จัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 10 ไร่ และส่งเสริมให้ปลูกพืชตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องด้วยศักยภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาว “ในพื้นที่ 10 ไร่ไม่ได้ให้อิสระในช่วงเริ่มต้น แต่บังคับให้ปลูกพืชยืนต้น คือ แมคคาเดเมียคนละ 50 ต้น อะโวคาโด พลับ ท้อ และพืชที่นำพันธุ์มาแจกให้ ส่วนพืชระยะสั้นเป็นสตรอว์เบอร์รี่ เสาวรสคนละ 2 ไร่ เพราะเป็นพืชที่ได้ผลผลิตเร็ว คนปลูกจะได้เลี้ยงตัวเองได้เร็ว นอกนั้นจะปลูกข้าวโพดหรืออะไรอื่นก็ได้” กัลยณัฎฐ์
หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อยและบ้านห้วยน้ำผัก
หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อยและบ้านห้วยน้ำผัก อ.นาแห้ว จ.เลย ได้รับจัดตั้งเป็นหมู่บ้านชุมชนใหม่ตามแนวชายแดนภายใต้โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ตั้งแต่ปี 2531 โดยมีกองทัพภาคที่ 2 และภาคที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งสองหมู่บ้านตั้งอยู่ใจกลางป่าทึบและภูเขาสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเล 750-1,200 เมตร ภูมิอากาศหนาวเย็น ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าวไร่เป็นพืชหลักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย รวมทั้งหาของป่าและรับจ้างทั่วไป แม้จะได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน แต่พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพไปขายแรงงานนอกพื้นที่ ในปี 2538 สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานเครือข่าย ได้ไปส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ จวบจนวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ สวทช. ได้สนับสนุนและส่งเสริมหมู่บ้านบ่อเหมืองน้อยและบ้านห้วยน้ำผัก อ.นาแห้ว ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี