จากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 15 ไร่ แปรเปลี่ยนเป็นป่าและพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ตามความฝันของ “ลำพึง ศรีสาหร่าย” ที่ต้องการมีที่ดินเป็นของตนเอง หลังจากเช่าที่ปลูกผักจนส่งลูกๆ เรียนจนจบมหาวิทยาลัย และในวันที่สูญเสียคู่ชีวิตที่เคียงบ่าปลูกผักร่วมกันมา เธอได้ลูกชาย “ภิญญา ศรีสาหร่าย” วิศวกรหนุ่มกลับมาเป็นกำลังสำคัญและสานฝันการทำเกษตรอินทรีย์ของเธอที่ “ฟาร์มฝันแม่” เรื่องราวของ “ฟาร์มฝันแม่” เคล็ด(ไม่)ลับ ปลูกผักอินทรีย์ ให้ตลาดจำ (บันทึกวิดีโอกิจกรรมเสวนา) “ฟาร์มฝันแม่” ความฝัน ความจริงและความรู้เกษตรอินทรีย์ (วิดีโอ) “ฟาร์มฝันแม่” ความฝัน ความจริงและความรู้เกษตรอินทรีย์ (บทความ)
จาก ‘ศูนย์ (0)’ สู่ ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน: สุขใจฟาร์ม’
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานเกษตรอำเภอวังเหนือ และองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ เปิด “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน: สุขใจฟาร์ม” ต.วังทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พร้อมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การผลิตกล้าคุณภาพและการเพาะต้นอ่อน โดยมี นางวณิชดา ไชยศิริ นายอำเภอวังเหนือ เป็นประธานเปิดงาน “เราเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีองค์ความรู้เกษตรอะไรเลย ได้แต่ดูจากยูทูป กูเกิ้ล ซึ่งไม่สามารถให้องค์ความรู้กับเราได้ 100% จนได้ไปอบรมการผลิตผักอินทรีย์คุณภาพกับ สวทช.-ม.แม่โจ้ เป็นองค์ความรู้ตามหลักวิชาการ เอามาปรับใช้กับพื้นที่ของเรา ได้ลองผิดลองถูก จนปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 เราพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้เผยแพร่ความรู้ให้คนในชุมชนได้ผลิตผักอินทรีย์มีคุณภาพ เราเชื่อว่าความรู้ที่ได้ทำให้คุณภาพของผักและคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้จริงๆ” นายภัทรพล วนะธนนนท์ เกษตรกรรุ่นใหม่และเจ้าของฟาร์ม “สุขใจฟาร์ม” สะท้อนความรู้สึกในวันที่ฟาร์มของเขากลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชน