เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และปศุสัตว์อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีปฏิบัติการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อ นำร่องกับโค 20 ตัวในอำเภอราษีไศล โดยได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ เทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะสำหรับจัดการฝูงแม่พันธุ์โคให้ผลิตลูกโคเนื้อได้จำนวนมากในรุ่นเดียวกัน นำไปสู่ระบบการเลี้ยงและการขุนโคเนื้ออย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่ายการจัดการฟาร์มและเพิ่มรายได้จากการเสียโอกาสที่แม่โคทิ้งช่วงท้องว่างนาน สท. และหน่วยงานเครือข่ายมีแผนขยายผลเทคโนโลยีปฏิบัติการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด รวม 100 ตัว รวมถึงแผนการผสมเทียมเพื่อยกระดับสายพันธุ์โคเนื้อในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างน้อย 400 ตัว ให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด