“ผ้าล๊อตเดียวกัน สีเหมือนกัน ตัดเย็บเหมือนกัน ระยะเวลาผ่านไปสักระยะ ผ้าที่ไม่ได้เคลือบด้วยเทคโนโลยีนาโน หมองคล้ำ ไม่ขาวสดใสเหมือนผ้าที่ผ่านการเคลือบคุณสมบัติพิเศษ”

“เราไม่เคยรู้เลยว่าแค่เปลือกผลไม้ ใบไม้ สามารถให้สีสันที่สวยงาม เพิ่มมูลค่าให้เสื้อเราได้ตัวละหลายร้อยบาท”

คำบอกเล่าจาก เจษฎา ปาระมี ประธานกลุ่มปิ๊กมาดี จ.ลำปาง และ ดรุณี ภู่ทับทิม ประธานกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก จ.นครศรีธรรมราช สองกลุ่มอาชีพจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการยกระดับอาชีพกลุ่มสตรีด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เพื่อยกระดับการผลิตสิ่งทอของชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่ม

จากจุดเริ่มที่เป็นเพียง “ศูนย์ประสานเพื่อความช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส” ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานท้องถิ่น เจษฎา ปาระมี และ กฤษฎา เทพภาพ สองหนุ่มนักพัฒนาของตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์เมื่อปี 2559 ในนาม “ปิ๊กมาดี” ที่สื่อความถึงการที่ผู้พิการ ผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาสกลับมามีสุขภาพกาย-ใจที่ดี สร้างงานสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ จากสมาชิกกลุ่มเริ่มต้น 40 คน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 400 คน ครอบคลุม 2 หมู่บ้านในตำบลวอแก้ว

“เราเริ่มต้นจากเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ สมาชิกคัดแยกขยะแล้วมาขายให้กลุ่มฯ รายได้ที่กลุ่มฯ นำขยะไปขายต่อจะกลายมาเป็นสวัสดิการให้สมาชิกกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือแม้แต่เป็นรถเข็นให้ผู้พิการได้หยิบยืม” กฤษฎา เลขาธิการกลุ่มปิ๊กมาดี บอกเล่าถึงกิจกรรมเริ่มต้นของกลุ่มฯ ที่ใช้ชื่อว่า “ปิ๊กมาเตี่ยมบุญ” ก่อนที่จะขยายเพิ่มอีก 8 กิจกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมที่สร้างรายได้ จะปันเงินร้อยละ 5 เข้าสะสมเป็นเงินของกลุ่มฯ เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมและเป็นสวัสดิการให้สมาชิก

“เราไม่ต้องการทำงานเพื่อสงเคราะห์หรือรอการรับบริจาค กิจกรรมทั้ง 9 อย่าง เราให้สมาชิกเลือกทำตามความสนใจ ให้เขามีความสุขที่ได้เข้ามาอยู่กลุ่มฯ”

กิจกรรมตัดเย็บ หรือ “ปิ๊กมาอุ่น” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่รวมตัวผู้สูงอายุที่ถนัดหรือสนใจการตัดเย็บ ซึ่งเริ่มต้นจากการเย็บผ้าห่มนวมเพื่อให้กับสมาชิก โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศุนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จ.ลำปาง ก่อนจะขยับขยายผลิตผ้าห่มนวมและสินค้าจากเศษผ้าเพื่อจำหน่าย และกลายเป็นโจทย์ตั้งต้นที่เข้าร่วมโครงการกับ สท. เพื่อยกระดับด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“เจ้าหน้าที่ สท. มาพูดคุยและเห็นว่ากลุ่มของเราสามารถพัฒนาได้มากกว่าผลิตผ้านวม เรามีกลุ่มตัดเย็บที่มีสมาชิกเกือบ 20 คน วัย 60 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีพื้นฐานตัดเย็บที่ดี และโจทย์สำคัญที่ชวนให้เราคิด คือ อะไรคือปิ๊กมาดี” กฤษฎา เล่าถึงจุดเปลี่ยนของผลิตภัณฑ์จากผ้าห่มนวมกลายเป็น “เสื้อ” ที่ตัดเย็บได้มาตรฐาน มีลวดลายเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็น “ปิ๊กมาดี” และเพิ่มมูลค่าด้วยนาโนเทคโนโลยีเคลือบสารยับยั้งแบคทีเรีย ป้องกันรังสียูวี และเพิ่มความนุ่ม ซึ่งผ้าฝ้ายล็อตแรกเคลือบคุณสมบัตินาโนเทคโนโลยีที่ สท. สนับสนุนนั้น กลุ่มฯ นำไปสกรีนลวดลาย “ปิ๊กมาดี” และนำมาตัดเย็บจำหน่ายได้ 10 ตัว ราคาตัวละ 790 บาท จากเดิมที่ขายเสื้อตัดเย็บทั่วไปตัวละ 350 บาท

ลวดลายเอกลักษณ์ “ปิ๊กมาดี” ที่สกรีนลงผืนผ้าใช้เครื่องหมายมากกว่า (>) น้อยกว่า (<) วางไขว้กัน ซึ่งที่มาของลวดลายนี้มาจากลายจักสานของ “ปิ๊กมาเปิ้น” อีกหนึ่งกิจกรรมของกลุ่มฯ ที่รวมชายหนุ่มสูงวัยถักทอ “หมวกจักสาน” สินค้าขึ้นชื่อของกลุ่มฯ

“เราได้ความรู้การตัดเย็บเพิ่มขึ้นมากจากผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ สท. สอนละเอียดมากทุกขั้นตอน ทั้งการออกแบบ การเย็บ และยังกำหนดขนาดมาตรฐาน S M L ให้ด้วย ซึ่งแต่ก่อนสมาชิกอาศัยกะประมาณ ไม่มีขนาดแน่นอน การเรียนรู้จากทีมงาน ทำให้สมาชิกได้ทักษะการเย็บที่ถูกต้องและยังมีมุมมองการผลิตเพื่อขายเปลี่ยนไป สนใจความต้องการตลาดมากขึ้น”

แม้ผ้าเคลือบคุณสมบัติพิเศษจะตัดเย็บเป็นเสื้อจนหมด แต่ทักษะความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม ทำให้สมาชิกนำไปตัดเย็บเสื้อผ้า กระเป๋า หรือสินค้าจากเศษผ้าจำหน่ายสร้างรายได้ของตนเอง แต่หากต้องการผลิตเสื้อลวดลายปิ๊กมาดีและจำหน่ายภายใต้โลโก้นี้ จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากสมาชิกผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มฯ ก่อน

“ผ้าห่มนวมเย็บได้วันละผืน เต็มที่สองผืน เย็บปีละครั้ง แต่ถ้าทำเสื้อ สมาชิกทำได้เรื่อยๆ ตามออเดอร์ แล้วเราขายคุณภาพ ไม่ปล่อยสินค้าเยอะ ที่สำคัญเสื้อหนึ่งตัวทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ ทั้งคนตัดเย็บ คนปั๊มกระดุม น้องๆ ที่บกพร่องทางการได้ยินที่สกรีนลายผ้า หรือแม้แต่เด็กๆ ในชุมชนที่แพ็คเสื้อลงถุง”

ลวดลายเอกลักษณ์ที่ปรากฏบนผ้าสร้างความภาคภูมิใจให้สมาชิกกลุ่มปิ๊กมาดี พวกเขามีเสื้อลายนี้กันทุกคน โดยซื้อผ้าจากกลุ่มฯ ออกแบบและตัดเย็บกันเอง บ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มฯ ซึ่ง กฤษฎา บอกว่า ไม่ว่ายากแค่ไหน ถ้าเป็นลายปิ๊กมาดี พวกเขาก็ทำด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ

“ความรู้ที่ได้จาก สท. ทำให้เราได้ทักษะและผลิตสินค้าที่หลากหลาย การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมจำเป็นมาก อย่างนาโนเทคโนโลยีทำให้สีผ้าไม่ซีด ไม่ยับ ผ้าดูดี และสร้างราคาให้สินค้าเราได้” เจษฎา บอกทิ้งท้าย

การเกิดขึ้นของ กลุ่มปิ๊กมาดี มาจากความต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ขณะที่ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เกิดจากการรวมกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการหารายได้เสริม เพื่อจุนเจือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำหนักในช่วงปี 2558

ดรุณี ภู่ทับทิม ประธานกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในครั้งนั้น อาศัยทักษะการตัดเย็บผ้าที่เธอมี เธอจึงรวมกลุ่มแม่บ้านและสตรีทั้งขาวไทยพุทธและมุสลิมในชุมชนประมาณ 30 คน ฝึกสอนเย็บผ้าปาเต๊ะ ย้อมสีผ้าจากสีเคมี ทำผ้ามัดย้อม โดยมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สนันสนุนวัสดุอุปกรณ์ จนเกิดการจัดตั้ง “กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก” ในเวลาต่อมา

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีหลากหลายทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผ้าพันคอ โดยแปรรูปจากผ้าปาเต๊ะสำเร็จจากโรงงาน และปักตกแต่งเพิ่มเติมด้วยคริสตัล ไข่มุก และลูกปัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าพอสมควร แต่ยังประสบปัญหาคู่แข่งทางการตลาด เนื่องจากในภาคใต้มีผู้ผลิตผ้าปาเต๊ะหลายราย ดรุณี จึงคิดสร้างเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม

ปลายปี 2561 ดรุณี และสมาชิกเข้าร่วมอบรมทำผ้ามัดย้อมโดยใช้สีธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิธีการทำผ้ามัดย้อม การสกัดสีธรรมชาติจากวัตถุดิบในท้องถิ่น การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ของ สวทช. ที่รวมกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายไว้ในขั้นตอนเดียว ทำให้ประหยัดเวลา ลตต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การอบรมครั้งนั้นทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ อย่างเปลือกทุเรียน เปลือกเงาะ เปลือกมังคุดถูกทิ้งเกลื่อนในชุมชน ก็คิดว่าน่าจะเอามาสกัดสีและเอามาใช้ย้อมผ้า สร้างเอกลักษณ์ให้ผ้าของกลุ่มฯ ได้”

ดรุณี และสมาชิกรวบรวมเปลือกมังคุด เงาะ ทุเรียน มาหมักทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นนำมาต้มและทดลองย้อมผ้าตามขั้นตอนที่ได้เรียนรู้มา ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนได้สูตรเฉพาะของกลุ่มฯ และได้สีธรรมชาติ 5 โทนสี ได้แก่ สีแดงจากลูกจันทน์เทศ ซึ่งเป็นไม้ที่พบมากในชุมชน สีเหลืองอ่อนจากใบละมุด สีน้ำตาลแดงเข้มจากเปลือกเงาะ สีเขียวขี้ม้าจากเปลือกทุเรียน และสีแดงน้ำตาลอ่อนจากเปลือกมังคุด และทดลองใช้เอนไซม์เอนอีซทำความสะอาดผ้าก่อนย้อม พบว่าย้อมสีติดได้ดี สีสม่ำเสมอ และเห็นลายผ้าชัดเจน สร้างความภูมิใจและมั่นใจให้กับกลุ่มฯ มากขึ้นกับการย้อมผ้าโดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นและเทคโนโลยีมาเสริม

“แต่ก่อนย้อมผ้าใช้สีเคมี ไม่กล้าเอามือแช่นานขนาดนี้ ต้องรีบเอามือออก เพราะแสบและคัน กลิ่นก็ฉุนจนแสบตามาก แต่พอย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ ย้อมซ้ำหลายๆ รอบจนได้สีที่พอใจ โดยไม่ต้องกลัวอันตรายจากสารเคมี น้ำที่ใช้ย้อมผ้าเราก็สามารถปล่อยลงสวนได้สบายใจ ไม่ต้องกลัวต้นไม้ตาย” ประวิทย์ ภู่ทับทิม สมาชิกกลุ่มฯ เล่าถึงความแตกต่างของการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ

ดรุณี และสมาชิกกลุ่มฯ ยังได้ฝึกปฎิบัติการย้อมสีธรรมชาติอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ สท. ในช่วงปลายปี 2562 ทำให้กลุ่มฯ ได้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งการพัฒนาลวดลายมัดย้อมให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ที่ได้จากวันนั้น กลุ่มฯ ได้นำไปพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและตัดเย็บเป็นเสื้อ กระโปรง ชุดเดรส ผ้าเช็ดหน้า และทดลองจำหน่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก สินค้าที่ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การตอบรับที่ดีจากลูกค้าในครั้งนั้นทำให้ “กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก” วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสีย้อมธรรมชาติทั้งการปลูกต้นครามเพื่อสกัดสี การเก็บวัตถุดิบมาหมักสำหรับทำสต็อคสี รวมถึงการออกแบบที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์ โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตสีธรรมชาติและการทำผ้ามัดย้อมแบบครบวงจรของภาคใต้

“ต้องขอบคุณ สท. ที่มอบความรู้ให้กลุ่มของเรา เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเราได้เห็นถึงคุณค่าของวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ซึ่งเรามองเป็นแค่เศษขยะเหลือทิ้ง ไม่รู้เลยว่าแค่เปลือกผลไม้ ใบไม้ สามารถให้สีสันที่สวยงาม เพิ่มมูลค่าให้ผ้าเราได้ตัวละหลายร้อยบาท และยังทำให้สิ่งแวดล้อมของชุมชนเราดีขึ้นด้วย”

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับงานด้านสิ่งทอที่ไม่เพียงอาศัยทักษะฝีมือเฉพาะตน หากยังมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเสริมเติมแต่งยกระดับทั้งผลิตภัณฑ์ รายได้ และคุณภาพชีวิตของชุมชน

# # #

กลุ่มปิ๊กมาดี
หมู่ 5 ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
โทรศัพท์ 094 6369611
https://www.facebook.com/pikmadee/

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมตำบลหินตก
128 หมู่ 9 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
โทรศัพท์ 081 2687992

ยกระดับอาชีพกลุ่มสตรี ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม