“ผ้าสมัยยุค 1.0 แต่เดี๋ยวนี้ยุค 4.0 แล้ว เราจึงต้องปรับตัว การอนุรักษ์ผ้า ไม่ใช่แค่ทำผ้านุ่งผ้าผืน ทำแค่นั้นเท่ากับรอเวลาให้กลุ่มตาย ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าทำแล้วต่อยอดพัฒนา ชีวิตเขาต้องดีขึ้นด้วย” เกษม อินทโชติ กำนันตำบลบ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรี หัวเรือใหญ่ผู้ต่อลมหายใจผ้าทอบ้านปึก-อ่างศิลา หรือ “ผ้าทอคุณย่าท่าน” ให้มุมมองต่อการสืบสานผ้าทอลายโบราณของชุมชน
ในอดีตชุมชนบ้านปึกประกอบอาชีพทำนา ทำน้ำตาลโตนด ทำสวนมะพร้าว และงานหัตถกรรมผ้าทอที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี จากอาชีพเสริมที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่ชาวบ้าน กลายเป็นอาชีพหลักให้หลายครัวเรือน จวบจนกาลเวลาแปรเปลี่ยน งานผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์เริ่มเลือนลาง เหลือช่างทอน้อยคนที่ยังทอผ้าส่งขายตลาดอ่างศิลา
แม้วันนี้ สาย เสริมศรี หรือป้าไอ๊ หนึ่งในสองช่างทอท้องถิ่นและผู้ร่วมก่อตั้งสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านปึก ได้จากไปแล้ว แต่ภูมิปัญญาการทอผ้า เครื่องมืออุปกรณ์ และผ้าทอลายโบราณของป้าไอ๊ถูกเก็บรักษาและเป็นต้นทางให้ กำนันเกษม และ สมาชิกกลุ่มผ้าทอบ้านปึก-อ่างศิลา ได้สืบสานและต่อยอด ซึ่งลวดลายโบราณที่สามารถรวบรวมได้ ประกอบด้วย ลายไส้ปลาไหล ลายนกกระทา ลายสมุก ลายดอกพิกุล (เต็มดอกและครึ่งซีก) ลายหางกระรอก ลายตาหมากรุก ลายราชวัตร ลายผ้าเชิง ลายทางรอบตัว ลายทางลง ลายตากระแกรง ลายลิ้นโป้ว
“แต่ก่อนไม่ชอบผ้าเลย ไม่คิดจะทำ เห็นป้าไอ๊ยังทำได้ เราเป็นกำนัน เป็นนักปกครอง นักปกครองต้องทำได้ทุกอย่าง เรื่องอื่นเรายังทำได้ แล้วเรื่องผ้า ทำไมเราจะทำไมได้”
นอกจากแรงขับจากความเป็นนักปกครองแล้ว แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้กำนันเกษมมุ่งมั่นสานต่องานผ้าโบราณ คือ กระแสรับสั่งจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้อนุรักษ์ผ้าทอนี้ให้อยู่คู่กับจังหวัดชลบุรี
“ทอผ้าขาวม้า ผ้าถุงผ้าซิ่นไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว ทำแล้วขายไม่ได้ ผ้าที่ทอมาผืนหนึ่งก็ตัดเสื้อไม่พอ เพราะหน้ากว้างฟืมแคบ ก็เลยเปลี่ยนฟืมทอให้หน้ากว้างขึ้นเป็น 1 เมตร ตัดเสื้อได้หนึ่งตัว ทำให้เห็นว่าผ้าทอแปรรูปเป็นเสื้อได้มากกว่าผ้าขาวม้าอย่างเดียว ถ้าทำแล้วอยู่ไม่ได้ ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อประคองเหมือนคนป่วยให้ออกซิเจน ก็เท่ากับรอให้ตายไป”
กำนันเกษม ศึกษาและเรียนรู้เรื่องผ้าทั้งจากตำราเรียนและช่างทอผ้าท้องถิ่นในจังหวัดชัยภูมิ แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคการทอ และอุปกรณ์ต่างๆ ดัดแปลงและปรับแต่งให้สอดคล้องกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน และที่สำคัญเพื่อการแข่งขันด้านตลาด จากความเพียรพยายามของกำนันเกษมมาเกือบสิบปี วันนี้ผ้าทอบ้านปึก-อ่างศิลา เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังเป็นผ้าประจำจังหวัดชลบุรี แต่เขาก็ยังไม่หยุดพัฒนาผ้าทอลายโบราณนี้
“ผมต้องการสร้างนวัตกรรมให้ผ้า แต่ก่อนต้องทอมาก ถึงจะได้กำไรมาก แต่ทำอย่างไรให้ทอเหมือนเดิม แต่ได้กำไรมากๆ ล่ะ”
การย้อมผ้า การออกแบบลายผ้าใหม่ที่ยังคงลายดั้งเดิม หรือการใช้ผ้าฝ้ายผสมกับผ้าชนิดอื่น เป็นรูปแบบที่กำนันเกษม นำมาปรับใช้เพื่อต่ออายุให้ผ้าพื้นเมืองของพวกเขา เช่นเดียวกับที่เขาส่ง ธนรัตน์ เตชะมา หนึ่งในแกนนำหลักของกลุ่มฯ เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตสู่การพัฒนาอาชีพ” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
“เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ทันสมัยขึ้น ทำให้คนรู้จักผ้าเยอะขึ้น ถ้าคนไม่รู้จัก ผ้าไม่ทันสมัย ก็ไม่มีใครใช้ มันก็เหมือนกันหมด ในตลาดผ้าเยอะแยะ แต่คนซื้อใส่ เพราะเขามีการตลาดและความทันสมัย” กำนันเกษม ให้มุมมองต่อการใช้เทคโนโลยี
ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติจากใบมะม่วงและเปลือกประดู่ ทอขึ้นลายดอกพิกุลเต็มดอก เป็นผลงานของ ธนรัตน์ หลังจากที่เธอได้ไปเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ เทคโนโลยี ENZease (เอนอีซ) ในกระบวนการเตรียมผ้าฝ้าย การเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้สิ่งทอด้วยนาโนเทคโนโลยี รวมไปถึงแนวคิดการออกแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งทอ
“ได้ความรู้เยอะมาก ผ้าผืนนี้ใช้ฝ้ายผสมไหมและใช้ความรู้ที่ได้จากการไปอบรมทุกอย่าง ใบมะม่วงให้สีเหลือง เลือกใช้เพราะอยู่ในชุมชนบ้านสวนมะม่วง ส่วนเปลือกประดู่ให้สีน้ำตาล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดชลบุรี”
ความรู้ที่ ธนรัตน์ นำมาใช้คือเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ การใช้สารช่วยย้อมสีจากธรรมชาติ (มอร์แดนท์) การใช้เอนไซม์เอนอีซ หรือแม้แต่เทคนิคการทุบฝ้ายก่อนนำไปย้อม ซึ่งเธอบอกว่า ถ้าไม่ไปเรียน ก็ไม่รู้ เปิดมุมมองการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นแนวทางสร้างผลิตภัณฑ์จากสีธรรมชาติให้กลุ่มได้จากที่ใช้แต่สีเคมี
กว่าจะย้อมฝ้ายและไหมด้วยสีธรรมชาติใช้เวลาไม่น้อย เมื่อได้เส้นใยสีสวยตามที่ต้องการแล้ว ธนรัตน์ ส่งต่อให้ให้ ป้าเย็นใจ สมาชิกผู้สูงอายุของกลุ่มฯ ซึ่งทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 14 ปี ป้าเย็นใจทอผ้าจากเส้นใยสีธรรมชาติขึ้นลายดอกพิกุลเต็มดอกตามที่ธนรัตน์ต้องการจำนวน 2 ผืน ความยาวผืนละ 2 เมตร แต่ละผืนใช้เวลาทอ 3 วัน
ผ้าทอสีธรรมชาติลายดอกพิกุลเต็มดอกสองผืนนี้ เป็นผลงานที่ ธนรัตน์ ภาคภูมิใจมากที่สามารถผลิตผ้าที่มาจากสีย้อมธรรมชาติได้ โดยเธอตั้งใจมอบผ้าผืนนี้ให้กำนันเกษมนำไปตัดเสื้อ และวางแผนผลิตผ้าจากสีธรรมชาติล็อตใหม่ ทดลองใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เช่น ใบหูกวาง อัญชัน นำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าและเคลือบกันน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยี
พวงกุญแจปลาวาฬลายไส้ปลาไหล เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มที่ได้แนวคิดการออกแบบและการใช้เศษผ้าเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่ง กำนันเกษม มองว่า ยังสามารถต่อยอดพัฒนารูปแบบ สีที่ใช้ รวมถึงการใช้นาโนเทคโนโลยีเคลือบให้กลิ่นหรือป้องกันแบคทีเรีย ซึ่งช่วยเพิ่มราคาให้สินค้าได้
“ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จาก สวทช. เอามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ก้าวไกลไปได้อีก ให้ตรงจุดที่โลกกำลังต้องการ ตอนนี้โลกต้องการสิ่งที่มาจากธรรมชาติ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนและก้าวให้ทัน การใช้เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผ้าของเราได้ ทำอย่างไรให้ทอผ้าปริมาณเท่าเดิม แต่ขายได้ราคาสูงขึ้น”
# # #
กลุ่มผ้าทอบ้านปึก-อ่างศิลา “ผ้าทอคุณย่าท่าน”
www.facebook.com/ผ้าทอมือคุณย่าท่าน
โทรศัพท์ 096 593 2414