เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2566 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้เทคโนโลยีเอนไซม์และการออกแบบลายอัตลักษณ์สิ่งทอพื้นเมือง” ให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมสีธรรมชาติ ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มผลิตผ้าไหมที่ได้รับรองตรานกยูงพระราชทาน* มีนายกนก วงศ์รัฐปัญญา น.ส.ปวีณา ทองเกร็ด นักวิจัย สวทช. และนายวิวัฒน์ พร้อมพูน ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย สวทช. เป็นวิทยากรให้ความรู้คุณสมบัติของเอนไซม์กับการทำความสะอาดเส้นไหม ทำให้ได้เส้นไหมนุ่ม ลื่น ติดสีได้ดีขึ้น ผู้เข้าอบรมร่วมทดสอบนำเส้นไหมมาย้อมสีธรรมชาติจากสะเดาและเปลือกอะลาง โดยใช้โคลน สารส้มและปูนใสเป็นสารมอร์แดนท์ ทำให้เกิดโทนสีน้ำตาลมากกว่า 6 เฉดสี

นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมยังได้รับความรู้เรื่องการออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติ์ธนัตถ์ ญาณพิสิษฐ์ ผู้อำนวยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นวิทยากร ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การศึกษาลายผ้าโบราณของกลุ่มฯ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบออกแบบลายผ้าใหม่และเรียนรู้การทำลายผ้าอัตลักษณ์ รวมถึงเทคนิคการสกัดสี การย้อมและการทอผ้าขิด เป็นองค์ความรู้ที่นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอสไบขิดของกลุ่มฯ ต่อไป

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นายอนุชา เรืองอมรวิวัฒน์ นายอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมเยี่ยมชมการจัดกิจกรรมและพูดคุยกับผู้เข้าอบรม

*สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และนกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) 

สท.-สนง.เกษตรอำเภอราษีไศลยกระดับกลุ่มผลิตผ้าไหมสีธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี