“มะเขือเทศอินทรีย์” อีกหนึ่งผลผลิตคุณภาพของวิสาหกิจชุมชนปันบุญ ที่ผสานทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของสมาชิกกลุ่ม ทำให้ได้มะเขือเทศอินทรีย์ที่มีรสชาติหวาน เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า โดยพันธุ์ที่กลุ่มฯ ปลูก คือ พันธุ์ซันไซน์ พันธุ์แดงโกเมน (พันธุ์ที่ปรับปรุงโดย สวทช.) และพันธุ์โซลาริโน่ (พันธุ์การค้า)

เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจปลูกมะเขือเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจ วางแผนบริหารจัดการให้สอดคล้องกับตลาดและต้นทุนของตนเอง (ทุน แรงงาน) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการปลูก ทั้งด้านการผลิต การตลาด การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

o รู้ตลาด ความต้องการของตลาด เพื่อเลือกชนิดพันธุ์มะเขือเทศ วางแผนการปลูก  
o รู้สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น แสง โรคและแมลงศัตรูพืช รวมไปถึงดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต เพื่อวางแผนการบริหารจัดการ เลือกวิธีป้องกัน/กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีโอกาสเกิดขึ้น 
o รู้จักเทคโนโลยี เลือกใช้ตามความจำเป็นและทุน เพื่อช่วยในการผลิต เช่น โรงเรือน ระบบน้ำ วัสดุปลูก ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ขนาดพื้นที่ปลูก6×20 เมตร = 120 ตารางเมตร (ปลูกในโรงเรือน)
จำนวนต้น 235 ต้น 
ขนาดถุงปลูก10×20 นิ้ว
ระยะห่างระหว่างต้น30 ซม.
ระยะห่างระหว่างแถว30 ซม.
จำนวนแถว8 แถว
ผลผลิตที่ได้    
 เฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม/ต้น

การเตรียมพื้นที่ปลูก

> ปูด้วยพลาสติกกันหญ้า/วัชพืช
> สูตรดินปลูก ประกอบด้วย ดิน ปุ๋ยหมักสูตรไม่พลิกกลับกอง แกลบดำ อัตราส่วน 1:1:1

การเตรียมเมล็ดก่อนการลงแปลง/การเพาะกล้า

> นำเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศแช่น้ำอุ่น 1 คืน และห่อด้วยกระดาษทิชชู่อีก 1 คืน
> สูตรวัสดุเพาะ ประกอบด้วย แหนแดงบดแห้ง ขุยมะพร้าว แกลบดำ ดิน ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1:1:1:1:1 > ผสมวัสดุเพาะให้เข้ากัน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
> นำวัสดุเพาะใส่ถาดหลุม นำเมล็ดที่บ่มไว้ใส่ถาดหลุม 1 เมล็ด/หลุม กลบบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม
> อายุกล้า 25 วัน
> วางถาดเพาะกล้าในโรงเรือนเพาะกล้า พลางด้วยสแลนสีดำ 50% รดน้ำเช้าและบ่าย

การตัดแต่งทำค้าง

> เริ่มทำค้างหลังย้ายปลูกมะเขือเทศ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
> ตัดหรือเด็ดตาข้าง กิ่งแขนงด้านล่างออกให้หมด รวมทั้งเด็ดดอกช่อแรกออก

การให้น้ำ

ให้น้ำระบบน้ำหยด 1 ครั้งต่อวัน เวลาที่ให้น้ำคือ 08.00-08.05 น. ระยะเวลา 5 นาที

การให้ปุ๋ย

> เติมปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง 1 ครั้ง ประมาณ 2 กำมือ/ต้น ให้หลังการตัดแต่งกิ่ง 
> ให้น้ำหมักถั่วเหลือง 1 ครั้ง/สัปดาห์
> ใส่โดโลไมล์ ในระยะที่เจอโรคผลไหม้

โรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่พบ

> หนอน พบในช่วงที่กำลังติดลูก
> โรคใบจุด พบช่วงติดลูกแล้ว
> โรคเหี่ยวเขียว

ป้องกัน/กำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช

> ฉีดบีที 2 ครั้ง/สัปดาห์
> ไตรโคเดอร์มา 2 ครั้ง/สัปดาห์

มะเขือเทศอินทรีย์ที่สวนปันบุญ