“ฉันมีโอกาสได้ไปทำงานและรับบทเป็นนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวชุมชนแห่งนี้พร้อมๆ กับพี่ๆ นักท่องเที่ยว 16 คน จากบ้านรวมไทย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงวันที่ 25-27 มกราคม 2566 นี่เป็นครั้งแรกที่ชุมชนเปิดรับนักท่องเที่ยว ทดลองจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อเรียนรู้และพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร-สุขภาพได้เต็มรูปแบบต่อไป ...จากที่ฉันได้ไปสัมผัสก็บอกได้ทันทีว่าชุมชนฆ้องชัยแห่งนี้ “มีอะไรดี...”
น.ส.ขวัญธิดา ดงหลง นักวิชาการ ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก
หากอยากปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการงาน พักสายตากับทุ่งนาเขียวขจี อิ่มหนำกับเมนูอาหารพื้นถิ่นจากแปลงเกษตรอินทรีย์ อิ่มเอมใจกับรอยยิ้มและมิตรภาพของผู้คนแล้วล่ะก็ อยากให้ได้ลองมาสัมผัสบรรยากาศของที่แห่งนี้ “ชุมชนตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์”
อากาศดี
“โฮมสเตย์กำนันแดง” ตั้งอยู่กลางทุ่งนาเขียวขจี สายหมอกจางๆ ต้องแสงแดดอ่อนยามเช้ารับกับเสียงไก่ขัน ปลุกความสดชื่นให้นักท่องเที่ยวได้สูดรับอากาศบริสุทธิ์เต็มอิ่ม บ้านไม้ชั้นเดียวร่มรื่นด้วยต้นไม้รอบบ้าน ชวนให้ลงเดินเล่นที่นี่ยังเป็นแหล่งเลี้ยงและอนุรักษ์ควายไทย 14 ตัว น้องควายทำหน้าที่เจ้าบ้านต้อนรับแขก ร่วมเฟรมเซลฟี่กับนักท่องเที่ยวอย่างไม่อิดออด หลังเดินเล่นดื่มด่ำบรรยากาศยามเช้าที่สดใส ก็ได้เวลาอาหารเช้ามื้อแรก ชุมชนได้จัดเตรียมอาหารหลากหลายเมนู มี “ข้าวผัดห่อใบบัว” เป็นเมนูจานเด่นที่ต้องยกนิ้วให้
วัฒนธรรมประเพณีที่ดี
หลังเติมพลังมื้อเช้า ไกด์ชุมชนได้นำนักท่องเที่ยวไปจุดแลนด์มาร์คของพื้นที่ นั่นคือ “ฆ้องชัยมหามงคล” ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย เป็นฆ้องเหล็กขนาดใหญ่ สูงราว 10 เมตร สร้างขึ้นจากความศรัทธาของชุมชนและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีตำนานเล่าขานมาช้านาน…. ช่วงเวลาใกล้รุ่งสาง ตีสามตี่สี่จะมีเสียงฆ้องใหญ่ดังกังวานมาจากแหล่งน้ำกุดฆ้องบึงขยอง คล้ายกับพระตีระฆัง เพื่อเป็นสิริมงคล จึงเป็นที่มาของชื่อ “ฆ้องชัย”
“สองร้อยปีที่เล่าขาน เป็นตำนานเรื่องราวไว้
ใกล้สว่าง ณ บึงใหญ่ เสียงฆ้องชัยกังวาลดัง
สำเนียงเสียงสดใส แว่วๆไกลดังมนต์ขลัง
ชาวบ้านต่างได้ฟัง จึงตั้งชื่อเมืองฆ้องชัย”
จุดถัดไปที่ทุกคนไปเยี่ยมชม คือ วัดปรางค์กู่เทพอินทร์แปลงฆ้องชัย ภายในเจดีย์ใหม่คือแหล่งโบราณสถานอายุกว่าร้อยปีที่พังทลายลง คงเหลือเพียงส่วนฐานที่วางเรียงในทิศเหนือใต้เป็นตัวแทนรอยอดีต โบราณสถานแห่งนี้ล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 10 จังหวัดร้อยเอ็ด พบชิ้นส่วนชามเคลือบสีเขียวที่ผลิตจากเตาบ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และฝาชิ้นส่วนไหเคลือบสีน้ำตาล หินบดยาแตกหัก เศษกระเบื้องมุงหลังคาแบบกาบกล้วยและเศษอิฐจำนวนมาก โดยคาดว่าอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-18 และยังพบหลักฐานคัมภีร์ใบลาน อุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีต อาทิ เครื่องชั่งโบราณ ถ้วยชาม อุปกรณ์ทำการเกษตรอยู่ในตู้เก็บของของวัด ภายในวัดยังมีศาลากลางน้ำให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำที่เย็นสบายและเพลิดเพลินกับการ ให้อาหารปลา
“วัดกุดฆ้องชัยวนาราม” ศูนย์รวมจิตใจของชุมชนชาวบ้านเชื่อกันว่าบริเวณวัดคือจุดกำเนิดของอำเภอฆ้องชัย ที่นี่มีศาลปู่แสนเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ทุกๆ ปีจะมีพิธีบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะเจ้าปู่เมืองแสน และวันนี้ชุมชนได้จัดพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” ให้กับพวกเรา ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญของชาวอีสานที่เรียกขวัญกำลังใจ เสริมสิริมงคลของชีวิตและอวยพรให้ผู้มาเยือนมีความสุข
พวกเรายังได้เรียนรู้และลงมือทำบายศรีแบบต่างๆ จากปราชญ์ชุมชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ อาทิ บายศรีขันธ์ห้า ขันหมากเบ็ง บายศรีสู่ขวัญ และเรียนการทำ “ธุง” สัญลักษณ์ความเชื่อเรื่องโชคลางและเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ
อิ่มใจกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังได้สนุกสนานกับการแข่งพายเรือขุด กิจกรรมเสริมที่ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวชุมชนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไปทั่วคุ้งน้ำ
อาหารดีๆ
หลังจากสนุกสนานกับกิจกรรมในช่วงเช้า พวกเราได้เดินทางไป “สวนจิราภาออร์แกนิค” สวนผสมผสานที่ผลิตพืชผัก ผลไม้และนาข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและเรียนรู้การใช้สารชีวภัณฑ์ การเลี้ยงผึ้งและชันโรงช่วยผสมเกสร สร้างผลผลิตคุณภาพโดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งจาก สวทช. และหน่วยงานอื่นๆ พี่ๆ ในเครือข่ายสวนจิราภาฯ ต้อนรับพวกเราด้วยเมนูอาหารกลางวันที่ปรุงจากวัตถุดิบในพื้นที่ อาทิ หอยนาซีฟู้ด ลาบหอยนา แกงเปรอะหน่อไม้ น้ำพริก ส้มตำ เคียงด้วยผักสลัดอินทรีย์สดและกรอบจากสวน เสริมด้วยเมนูผักดองพื้นบ้านแบบอีสานและกิมจิ เมนูประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผักพื้นบ้าน สร้างความประทับใจและอิ่มท้องให้พวกเราอย่างมาก และเมื่อหนังท้องตึง หนังตาเริ่มหย่อน ทางชุมชนไม่รอช้า ชวนพาทำกิจกรรมสลัดความง่วง ทั้งลงมือปรุงกิมจิผักพื้นบ้าน เรียนรู้การสาธิตทอเสื่อกกจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ลงสวนชมแปลงผัก ผลไม้ แวะทำความรู้จักรังผึ้งและชันโรง ก่อนที่จะไปสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมนั่งรถซาเล้งชมวิถีท้องถิ่นรอบชุมชน
ระบบนิเวศดี
รถซาเล้งออกสตาร์ทจากสวนจิราภาออร์แกนิค วิ่งลัดเลาะไปตามถนนในชุมชน ผ่านบ้านเรือนที่ปลูกเรียงรายเป็นระยะๆ
รถวิ่งห่างออกมาไม่ไกล พวกเราสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอดิน กลิ่นหอมอ่อนๆ จากต้นข้าว และภาพท้องทุ่งนาเขียวขจี คณะซาเล้งแวะพักริมนา ชมบรรยากาศนาปรัง กลุ่มนกที่กำลังจับปู ปลา หอยในแปลงเป็นอาหาร ซึ่ง ผศ.จิตศักดิ์ พุฒิจร ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และร่วมทริปท่องเที่ยวในครั้งนี้ ใช้กล้องส่องนกสำรวจชนิดนก พบว่ามีมากกว่า 10 ชนิด ที่ควรอนุรักษ์ไว้คู่กับระบบนิเวศของชุมชน เช่น นกเป็ดผี นกปากห่าง นกกระยางนา นกตะขาบทุ่ง นกกระสา ฯลฯ
รถซาเล้งพาพวกเราลัดเลาะไปตามชายทุ่งอีกฝากฝั่ง มองเห็นชาวนากำลังลงแรงไถนา บ้างสูบน้ำ บ้างหว่านปุ๋ย บ้างปักเบ็ดหาปลา ปลูกพืชผักสวนครัวตามคันนา เป็นภาพสะท้อนวิถีการทำเกษตรที่ชมได้จนเพลินตา ก่อนที่รถซาเล้งจะพาไปชมวิวที่ บึงขยอง บึงน้ำขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตาบนพื้นที่กว่า 440 ไร่ ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของตำบลฆ้องชัยพัฒนาที่ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร แหล่งอาหาร สถานที่พักผ่อน ซึ่งที่นี่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก
จากบึงขยอง รถซาเล้งมุ่งหน้าสู่จุดเช็คอินสุดท้ายของวัน ณ สวนบึงโดน แหล่งน้ำธรรมชาติอีกแห่งของชุมชนที่จัดสรรพื้นที่รอบบึงให้สมาชิกในชุมชนใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชผักปลอดภัยสารพิษมาตรฐาน GAP และชุมชนยังร่วมใจสร้างศาลากลางน้ำและสะพานไม้ให้ผู้มาเยือนได้เดินเล่นรับอากาศบริสุทธิ์ สัมผัสความเย็นของสายน้ำและความระยิบระยับของผิวน้ำเมื่อยามต้องแสงอาทิตย์ ขณะที่บนฟ้ากว้างเหล่าฝูงนกนับร้อยตัวกำลังค่อยๆ บินเคลื่อนกลับรังในช่วงเวลาที่อาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ช่างเป็นภาพบรรยากาศที่สวยงามและน่าประทับใจ
หลังตะวันลาลับขอบฟ้าได้เวลาอาหารเย็น ชาวบ้านพิถีพิถันเตรียมปลาจากบึงโดนเป็นเมนูหลากหลายให้แขกผู้มาเยือนได้ลิ้มลอง พร้อมผักสดๆ จากแปลงปรุงเป็นจานอาหารหลากรสชาติ เต็มอิ่มจากมื้ออาหารยังมีกิจกรรมร้องรำทำเพลงสนุกสนานทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ก่อนแยกย้ายกลับที่พักโฮมสเตย์และลานกางเต๊นท์
ที่ลานกางเต๊นท์ ณ สวนปันบุญ ยิ่งดึกอากาศยิ่งเย็น อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ฉันซุกตัวใต้ผ้าห่มผืนหนา แว่วเสียงธนูว่าวจุฬาที่ติดลมลอยอยู่บนท้องฟ้าประสานเสียงจิ้งหรีดเรไรขับกล่อมให้หลับฝันดีทั้งคืน
ต้นแบบสวนเกษตรอินทรีย์ที่ดี
เริ่มต้นเช้าวันใหม่กับอากาศที่เย็นสบาย พร้อมมื้ออาหารเช้าและกิจกรรมสนุกๆ ที่ “สวนปันบุญ” สวนผักอินทรีย์ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาหนุนเสริมการผลิตผักให้ได้คุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับของตลาด
ทุกคนต่างตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ทานอาหารเช้า เมื่อโต๊ะอาหารคือกองฟางที่ตั้งเคียงข้างแปลงผักอินทรีย์สีสดหลากชนิดที่ยังคงปรากฎหยดน้ำค้างยังคงอ้อยอิ่งที่ปลายยอด ลมเย็นๆ แสงแดดอ่อนๆ ตกกระทบสายน้ำจากสปริงเกอร์ในแปลงผัก ทอประกายเป็นสายรุ้งทอดยาวสุดแปลง ขณะที่เมนูอาหารมีหลากหลาย ชวนให้นักท่องเที่ยวเลือกลงมือปรุงเองได้ตามชอบ ทั้งเบอร์เกอร์ข้าวจี่กินคู่กับหมูย่าง/ไก่ย่าง บัตเตอร์นัทอินทรีย์ย่างเนยจิ้มแจ่วปลาร้า สลัดผักอินทรีย์กว่า 10 ชนิด พร้อมด้วยน้ำสลัดสูตรพิเศษของสวนฯ ทั้งน้ำสลัดครีม น้ำสลัดงาดำและน้ำสลัดซีฟู้ด ตบท้ายด้วย “น้ำฝาง” เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หาทานได้ยาก มีสรรพคุณบำรุงโลหิต
อิ่มตาอิ่มใจและอิ่มท้องกันแล้ว ได้เวลาเดินย่อยอาหารฟังเรื่องราวการทำเกษตรอินทรีย์วิถีปันบุญผ่านจุดเรียนรู้ต่างๆ เช่น บ่อเลี้ยงแหนแดง พืชน้ำมหัศจรรย์ที่เปรียบเหมือนโรงงานผลิตปุ๋ยของสวนปันบุญ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นอาหารเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา นำมาทำปุ๋ย หรือเป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะกล้า โรงเรือนปลูกผัก ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จาก สวทช. ภายในโรงเรือนปลูกพืชผักหลากชนิด ทั้งผักตระกูลสลัดหลากชนิด บัตเตอร์เฮด บัตเตอร์นัท มะเขือเทศราชินี ที่จุดเพาะกล้า พวกเราได้มีโอกาสเพาะกล้าสลัด ทดลองย้ายกล้าลงแปลงด้วย และที่ตื่นเต้นสุดๆ สำหรับมือใหม่ทำเกษตรคือ ได้ตัดแต่งต้นมะเขือเทศ ตัดผักสลัดจากแปลง นำผักที่ได้ไปล้างและแพ็คบรรจุที่โรงแพ็คผักของสวนฯ ซึ่งได้มาตรฐาน GMP เรียกได้ว่าพวกเราได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติปลูกผัก (ฉบับย่อ) ในทุกขั้นตอนกันเลย
เพลิดเพลินกับกิจกรรมในสวนล่วงเลยไปเกือบเที่ยง ยังมีกิจกรรม “การทำสลัดโรล” เรียกน้ำย่อยก่อนถึงมื้อเที่ยง แต่ละคนไม่รีรอที่จะบรรจงวางผักอินทรีย์หลากชนิดลงบนแผ่นแป้ง ค่อยๆ ม้วนแป้ง เก็บพับปิดงาน พร้อมทานเป็นอาหารว่างคู่กับน้ำตะไคร้ใบเตยหอมสดชื่น ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวชม “สวนเคราฤาษี” กันต่อ
หลบไอร้อนมาอิงแอบความร่มรื่นจากไม้ฟอกอากาศ “เคราฤาษี” มากมาย เดินเล่นพักผ่อนชมสวน เก็บภาพความประทับใจ หรือจะซื้อต้นเคราฤาษีติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากหรือนำไปปลูกเลี้ยงที่บ้านก็ได้เช่นกัน
กินดีอยู่ดี
จุดสุดท้ายของโปรแกรมท่องเที่ยวคราวนี้ คือ โคกหนองนาอุทัย อินทวรรณ ของคุณอุทัย อินทวรรณ และสามี ศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่กว่า 15 ไร่ เป็นสวนผสมผสาน ปลูกผัก ผลไม้ ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ปลูกอ้อยคั้นน้ำ เสริมด้วยปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและต่อยอดสร้างงานหัตถกรรมให้ชุมชน นอกจากได้แรงบันดาลใจในการทำเกษตรจากเจ้าของสวน พลิกฟื้นพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์แล้ว พวกเรายังได้อาหารมื้อเที่ยงอร่อยๆ จากคุณอุทัยและชาวบ้านที่จัดเต็มสำรับอาหารในแบบขันโตกอีสาน ล้อมวงกินข้าวในศาลามีลมเย็นๆ พัดผ่านคลายร้อน อาหารหลากหลายทั้งคาวหวานและเครื่องดื่มชวนให้ลิ้มลอง ทั้งข้าวห่อใบบัวและใบตอง ต้มไก่บ้านใบหม่อน น้ำพริกปลา ปลาแม่น้ำชีแดดเดียวทอด ส้มตำ ไข่เจียวแกล้มกับผักพื้นบ้านสดจากสวน ผลไม้อินทรีย์ทั้ง ฝรั่ง กล้วย และน้ำอ้อยคั้นสดหวานเย็นชื่นใจ เป็นอีกหนึ่งมื้ออาหารที่สร้างความประทับใจให้เหล่านักท่องเที่ยว
อิ่มหนำสำราญใจกันแล้ว ก่อนร่ำลาจบทริปท่องเที่ยวครั้งนี้ พี่น้องชาวกุยบุรีพากันอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้าไหม เสื่อกก ข้าวสาร ปลาส้ม น้ำพริก ผลไม้ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ยังได้รับผลผลิตจากสวนคุณอุทัยเป็นของฝากติดไม้ติดมือให้คิดถึงกัน
“สำหรับฉันแล้ว การท่องเที่ยวชุมชนครั้งนี้เป็นการใช้เวลา 2 วัน 2 คืนได้คุ้มค่า เต็มอิ่มทั้งใจและกาย สิ่งดีๆ ของที่นี่สร้างความประทับใจให้หลงรักและอยากกลับมาที่นี่อีกครั้ง....”
กิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน “อยู่ดีมีแฮง..ม่วนหลายกับท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลฆ้องชัยพัฒนา” เป็นกิจกรรมนำร่องที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ขยายผลการทำงานจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรให้วิสาหกิจชุมชนปันบุญสู่การทำงานในเชิงพื้นที่ตำบลฆ้องชัยพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ภายใต้โครงการ “การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในชุมชนต้นแบบ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี 2565-2566”
# # #