“เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราจะเริ่มต้นทำในสิ่งที่เราไม่รู้จัก เราไม่ควรทดลองโดยที่ไม่มีหลักวิชาการ ถ้าทดลองเลี้ยงตามที่เราเรียนมา แล้วเกิดปัญหา เราพอจะรู้ว่าเราออกนอกกรอบอะไรไปบ้าง ก็พอจะหาแนวทางแก้ไขได้” คุณนุจรี โลหะกุล หรือคุณเจี๊ยบ ผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มไส้เดือนดินไม้งามและฟาร์มไรน้ำนางฟ้า ธุรกิจเกษตรที่เกิดจากการเข้าร่วมอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช.

จากมนุษย์เงินเดือนที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ แต่ปลูกอย่างไรก็ไม่ออกดอกให้ชื่นชม คุณเจี๊ยบจึงเสาะหาความรู้จนได้อ่านเรื่องราวของ “ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน” และได้ทดลองหาซื้อมาใช้ ผลลัพธ์ที่ได้พาให้หัวใจคนรักต้นไม้เบิกบานเมื่อได้เห็นต้นไม้ผลิดอกสวยงาม แม้จะเจอ “ปุ๋ยดีๆ” ที่ต้องการแล้ว แต่คุณเจี๊ยบไม่หยุดเพียงเท่านั้น หากยังเสาะหาความรู้ของปุ๋ยดีๆ นี้

“เริ่มไปอบรมตั้งแต่ปี 2548 ไปเรียนทุกที่ที่มีสอนเรื่องไส้เดือนดิน ในช่วงนั้นก็มีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งจะเป็นสายพันธุ์ขี้ตาแร่ และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสายพันธุ์เอเอฟและขี้ตาแร่ พี่ไปอบรมกับอ.อานัฐที่แม่โจ้หลายรอบ แต่ละรอบก็ได้ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เรียนกลับมาก็มาฝึกเลี้ยงที่บ้านเริ่มจากกะละมัง ตู้ลิ้นชักพลาสติก ขยายมาเป็นบ่อวงซีเมนต์ 8 วง”

ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินที่ผลิตได้จากการฝึกฝีมือ คุณเจี๊ยบทดลองใช้เองและนำไปแจกเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง นานวันเข้าทุกคนที่ได้ใช้ต่างติดใจ อยากได้ไปใช้เพิ่ม แต่ขอให้คุณเจี๊ยบคิดเงิน และนั่นนำมาสู่การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดินขนาด 10×20 เมตร ในพื้นที่บ้านของตัวเอง เมื่อปี 2551

“พอคนใช้แล้วติดใจ อยากได้แต่ขอซื้อ จุดประกายให้เห็นว่าก็หาค่ากับข้าวจากปุ๋ยมูลไส้เดือนดินได้ และมองระยะยาวแล้วน่าจะดี เพราะคนยังค่อยไม่รู้จักปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน เป็นโอกาสที่จะทำขาย” และจากวันนั้นคุณเจี๊ยบได้หันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า “ไส้เดือนดิน” และสร้างผลิตภัณฑ์ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินภายใต้ชื่อ “เพื่อนดิน” ซึ่งคุณเจี๊ยบบอกว่า ช่วงนั้นรายได้เลี้ยงตัวได้ แต่ความสุขคือเป็นเจ้านายตัวเอง บริหารเวลาตัวเองได้ มีเวลาได้หาความรู้เพิ่ม ได้เจอผู้คนในแวดวงเดียวกัน ทำให้เปิดโลกความรู้และการทำธุรกิจ

รู้ให้ลึก “ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน” จับตลาดได้

จากการฝึกฝนและประสบการณ์การเลี้ยงไส้เดือนดิน คุณเจี๊ยบพบความแตกต่างของปุ๋ยที่ได้จากไส้เดือนสายพันธุ์เอเอฟ (African Nightcrawler) และสายพันธุ์ขี้ตาแร่ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองบ้านเรา

“คนเลี้ยงขี้ตาแร่น้อยมาก อาจเพราะการทำตลาดเริ่มต้นของการเลี้ยงเอเอฟที่เน้นว่าเลี้ยงง่าย ใช้ขี้วัวอย่างเดียว ไม่เหนื่อย และได้ปุ๋ยเยอะมาก แต่จะพบว่าคุณภาพปุ๋ยที่ได้ไม่เหมือนกัน กว่าผู้ใช้จะรู้ก็นาน และผู้ซื้อแยกไม่ออกว่าปุ๋ยอันไหนมาจากขี้ตาแร่หรือเอเอฟ”

สำหรับคุณเจี๊ยบที่คลุกคลีกับการเลี้ยงไส้เดือนดินมานาน บอกว่า ถ้าปุ๋ยยังไม่ร่อน จะดูออกว่าเป็นปุ๋ยจากไส้เดือนสายพันธุ์ไหน ดูที่ผิวมูลว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เอเอฟตัวโต มูลเม็ดใหญ่กว่า ขี้ตาแร่ตัวเล็กกว่า มูลละเอียดกว่า แต่ถ้าปุ๋ยผ่านการร่อนและบรรจุถุงแล้ว มูลแตกหมด จะดูไม่ออก

“คนที่เริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนต้องเข้าใจ เขาสอนวิธีการเลี้ยงเอเอฟโดยใช้เทคนิคของฝรั่ง เอามาเลี้ยงไส้เดือนไทยไม่ได้ ไส้เดือนฝรั่งเลี้ยงแห้ง แต่ไส้เดือนไทยเลี้ยงเปียก เมื่อเลี้ยงเปียก เวลาเก็บ บางคนก็ไปใส่เครื่องหมุนเหมือนกระสวยเพื่อจะร่อนเอาปุ๋ยออกมา ขี้ตาแร่มันเปียก เอาไปร่อน มันก็ติด คนก็จะไปเลี้ยงเอเอฟมากกว่า ถ้าเลี้ยงเอเอฟ ก็ต้องมีตลาดของปุ๋ยไส้เดือนเอเอฟและต้องยอมรับว่าปุ๋ยที่ได้ธาตุอาหารไม่เท่าขี้ตาแร่ แม้จะเลี้ยงอาหารแบบเดียวกัน เวลาเท่ากัน ธาตุอาหารที่ได้จากมูลไม่เท่ากัน การหาตลาดก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคนซื้อไปใช้แล้วไม่ดี ตลาดก็เสีย”

คุณเจี๊ยบบอกว่าปุ๋ยมูลไส้เดือนดินจากสายพันธุ์เอเอฟมีธาตุอาหารแต่น้อย เหมาะที่จะใช้สำหรับเพาะกล้า ต้นไม้จะได้แข็งแรงตั้งแต่ต้นยังเล็กๆ เมื่อต้นไม้โตขึ้นต้องการออกดอกผล หากใช้ปุ๋ยจากเอเอฟธาตุอาหารจะไม่พอ

ฟาร์มไม้งามของคุณเจี๊ยบนอกจากผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินแล้ว คุณเจี๊ยบยังจำหน่ายไส้เดือนสายพันธุ์ขี้ตาแร่ด้วยในราคากิโลกรัมละ 800 บาท โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมารับเองที่ฟาร์ม

“ที่บอกว่าใส่ถุงกระสอบส่งทางรถไฟได้ อันนั้นคือเอเอฟ เพราะว่าเอเอฟอยู่ในที่ชื้นได้ แต่ขึ้ตาแร่ต้องมีน้ำแฉะๆ เมื่อขนส่งใส่ลัง ลังเปื่อย ลังแตก เขาจะหลุดออกมา ดังนั้นคนที่คิดจะเลี้ยงก็ต้องมีใจรักที่จะมารับเอง และคนที่มาซื้อที่ฟาร์ม เราจะชั่งน้ำหนักไส้เดือนให้เห็นก่อน เพราะไส้เดือนมีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือเมื่อเขาตกใจ เขาจะบีบน้ำออกจากตัว สมมติชั่งไป 1 กิโลกรัม ระหว่างนั่งรถกลับไป รถสะเทือน ไส้เดือนตกใจ เขาจะบีบน้ำออกจากตัว น้ำหนักจะลดหายไป เมื่อไปถึงปลายทางเหลือ 7 ขีด บางทีไปไกลถึงเชียงราย จะเหลือครึ่งหนึ่ง ตัวจะผอม เพราะฉะนั้นเราจะแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อน”

นอกจากนี้คุณเจี๊ยบยังเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์เอเอฟไว้ด้วยเพื่อจำหน่ายเป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามหรือกุ้ง กิโลกรัมละ 500 บาท แต่จะแบ่งขายเป็นขีด เพราะคนที่เอาไปเลี้ยงจะใช้ให้อาหารแต่ละครั้งไม่มาก

ต่อยอด “ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน”

แม้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “เพื่อนดิน” จะออกสู่ตลาดมาเกือบสิบปี แต่ไม่พบตามร้านต้นไม้ทั่วไป เจ้าของผลิตภัณฑ์กลับเลือกวางขายเฉพาะที่เลมอนฟาร์มเท่านั้น

“มูลไส้เดือนเป็นอินทรีย์ 100% ถ้ามีเคมี ไส้เดือนอยู่ไม่ได้ มันตาย ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่ไม่มีเปลือก ไม่มีเกล็ด ไม่มีอะไรป้องกันตัว เลมอนฟาร์มเป็นอินทรีย์และมีกระบวนการตรวจสอบฟาร์ม จึงมีความน่าเชื่อถือ เมื่อคนเชื่อถือเลมอนฟาร์ม เราเอาสินค้าวางร้านนี้ สินค้าเราก็น่าเชื่อถือด้วย นอกจากเลมอนฟาร์มก็ไม่ได้ทำตลาดเพิ่มแล้ว เพราะคนเข้าตลาดนี้มากขึ้น ไม่อยากแข่งเรื่องราคา”

อย่างไรก็ตามคุณเจี๊ยบมองว่าการเลี้ยงไส้เดือนดินไม่ได้หยุดที่ขายเป็นปุ๋ย น้ำ และตัว แต่ต้องต่อยอดทำอย่างอื่นเพิ่ม

“ตอนนี้ทำดินปลูกโดยผสมปุ๋ยมูลไส้เดือนดินวางขายที่หน้าฟาร์มและกำลังอยู่ระหว่างปรับขนาดถุงเพื่อจำหน่ายในเลมอนฟาร์ม อีกหนึ่งอย่างที่อยากทำคือ เพาะกล้า ตอนนี้มีบริษัทที่รับเพาะกล้าอย่างเดียว ซึ่งถ้าใช้พีทมอส ต้นทุนแพงมาก พี่คิดว่าอยากจะเอามูลไส้เดือนเอเอฟมาขายเป็นเฉพาะวัสดุเพาะกล้า แต่ก็ต้องรอความพร้อมหลายๆ ด้าน ต้องมีพื้นที่และมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด”

กว่าสิบปีที่คุณนุจรีได้รู้จักสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ นี้อย่างลึกซึ้งจนมีความเชี่ยวชาญและเป็นวิทยากรให้คำแนะนำ แบ่งปันความรู้ให้ผู้สนใจจะผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน โดยไม่มองว่าจะเพิ่มคู่แข่ง

“ไส้เดือนดินเป็นอะไรที่ดีมากๆ คนไทยทุกคนควรจะเลี้ยงไส้เดือน ไม่มีอะไรเสียเลย นอกจากเป็นปุ๋ย เป็นอาหารปลาแล้ว มูลไส้เดือนมีจุลินทรีย์ช่วยบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ถ้าอาจารย์อานัฐไม่เผยแพร่เรื่องไส้เดือนดิน พี่ก็ไม่ได้รู้จัก ไม่มีโอกาสมีรายได้ พี่คิดว่าเราต้องแบ่งปันกัน ต้องฝึกฝีมือตัวเอง ทำออกมาให้ดี คิดว่าไปแข่งกันตรงนั้นดีกว่า ทำแล้วสร้างอาชีพ ทำไป”

# # #

สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศึกษาวิจัยการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อผลิตขยะอินทรีย์ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่สาธารณชน

 

เมื่อปุ๋ยดีๆ เปลี่ยนชีวิตมนุษย์เงินเดือน