การปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ สภาพอากาศ ที่หมายรวมถึงอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน หรือแม้แต่แรงลม ซึ่งเกษตรกรอาศัยข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อบริหารจัดการการเพาะปลูก แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ข้อมูลสภาพอากาศที่ใช้อาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจของเกษตรกร

นักวิจัย สวทช. ได้พัฒนาสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ (Weather Station) เป็นเทคโนโลยีระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายและควบคุมอัตโนมัติ เพื่อเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำฝน ปริมาณแสงแดด ความเร็วลม อุณหภูมิ/ความชื้นอากาศ และความชื้นดิน ซึ่งการเก็บข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่โล่ง) เพิ่มความแม่นยำของสภาพอากาศในพื้นที่ เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศช่วยตัดสินใจบริหารจัดการการเพาะปลูกในพื้นที่ตนเองได้

คุณปุ้ย-ดวงพร เวชสิทธิ์ รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่เขาคิฌชกูฏ อ.เขาคิฌชกูฏ จ.จันทบุรี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่สวนมังคุดของตนเอง  เพื่อทดสอบ สังเคราะห์และปรับแต่งเทคโนโลยีดังกล่าวให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง

“อากาศ” กับ “การทำสวนผลไม้”

มังคุดเป็นพืชที่อาศัยจังหวะอากาศในการออกดอกมากถึง 50% เราต้องเตรียมสภาพต้นมังคุดให้พร้อม เมื่อกระทบอากาศที่เหมาะ มังคุดจะให้ดอก ซึ่งช่วงอากาศที่เหมาะสมต่อการออกดอกของมังคุดต้องมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 50% มีอากาศค่อนข้างแห้ง ที่ผ่านมาใช้การสังเกตลักษณะอากาศจากหลายๆ ปัจจัย และอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมฝนหลวงฯ บ้าง ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลภาพกว้างระดับจังหวัดและภูมิภาค ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับใช้ในพื้นที่เอง ซึ่งความแม่นยำที่ได้ก็ค่อนข้างน้อย เพราะอากาศแต่ละพื้นที่ถึงจะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกัน ก็มีลักษณะอากาศที่แตกต่างกัน

ข้อมูลที่ “แม่นยำ” จาก “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” 

คุณปุ้ยได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศในช่วงเดือนกันยายน 2561 ทดลองใช้งานและนำข้อมูลจากสถานีฯ มาใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงทำใบมังคุดเพื่อเตรียมให้มังคุดออกดอก ข้อมูลสภาพอากาศที่เฉพาะเจาะจงของพื้นที่ช่วยตัดสินใจการให้น้ำได้มาก ข้อมูลแต่ละอย่างมีความสำคัญในแต่ละช่วงเวลา โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากสถานีฯ ในแปลงของตนเปรียบเทียบและเชื่อมโยงกับข้อมูลของกรมอุตุฯ ด้วย

ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศนำมาใช้บริหารจัดการแปลงมังคุดในช่วงออกดอก โดยดูความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณแสง และอุณหภูมิเป็นหลัก ตามคำโบราณบอกไว้ว่า ในช่วงที่ลมหนาวมาและค่อยๆ เบาลง จะเป็นช่วงที่มังคุดให้ดอก ซึ่งในช่วงนี้ต้องให้น้ำเยอะ การให้น้ำมากหรือน้อยนั้นยังต้องดูอุณหภูมิอากาศและความชื้นในดินเป็นหลักด้วย เพราะฉะนั้นการทำดอกมังคุดในครั้งแรก จำเป็นต้องอาศัยค่าต่างๆ ที่มีความแม่นยำสูงมาก เพราะถ้าให้น้ำผิดหรือไม่เพียงพอ จะทำให้เสียจังหวะการออกดอก ซึ่งต้องรอจังหวะอากาศที่เหมาะสมอีกครั้งนานถึง 2-3 สัปดาห์ ซึ่งก็ทำให้เสียหายพอสมควร นอกจากนี้ยังอาศัยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อดูความชื้นในดิน เพราะในช่วงให้ดอกมังคุดต้องการความชื้นในดินมากถึง 60-70% รวมทั้งดูค่าความชื้นอากาศ อายุใบ ควบคู่ไปกับการให้น้ำ

หลังการให้น้ำต้องมาดูว่าปริมาณการให้ดอกในรุ่นแรกเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ถ้ายังไม่พอใจ การให้น้ำหลังจากที่ออกดอกรุ่นแรกไปแล้ว เราก็จะเลี้ยงน้ำ โดยให้น้ำปริมาณน้อยๆ เพื่อเอาดอกอีกรุ่น และต้องดูค่าความชื้นในดินประกอบด้วย ซึ่งมีเซนเซอร์วัดความชื้นดินปักในระยะความลึก 30 เซนติเมตร และ 50 เซนติเมตร ถ้าจะหยุดการออกดอก จะให้น้ำปริมาณมากให้ถึงความชื้นระดับ 50 เซนติเมตร แต่ถ้ายังอยากได้ดอกอยู่ก็ต้องเลี้ยงน้ำไปเรื่อยๆ ที่ความชื้นระดับ 30 เซนติเมตร สำหรับข้อมูลจากเซนเซอร์วัดความเข้มแสงจะนำมาใช้ประกอบการเปิดปากใบเพื่อพ่นปุ๋ยช่วยในช่วงออกดอก ถ้าความเข้มแสงสูงขึ้นถึง 80-90% หรืออุณหภูมิถึง 36-37 องศาเซลเซียส ก็จะหยุดให้ปุ๋ยทางใบ

 “พอใจกับปริมาณการติดดอกของมังคุด ถือได้ว่าข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดอากาศช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่เราทำ และสามารถลดต้นทุนด้วย เพราะเมื่อก่อนให้น้ำและสเปรย์ปุ๋ยทั้งวันก็สูญเปล่า”

คนรุ่นใหม่กับการเลือกใช้เทคโนโลยี

คุณปุ้ย บอกว่า เทคโนโลยีมีความจำเป็นมากขึ้นในการทำเกษตร เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เกษตรกรต้องการความแม่นยำของข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดต้นทุนการสูญเสียที่ไม่จำเป็น

“เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ทำเกษตรเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ การสังเกตลมฟ้าอากาศก็ไม่แม่นยำ จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำจากเทคโนโลยีมาอ้างอิงเพื่อประกอบการตัดสินใจ และการเลือกใช้เทคโนโลยี อยากให้พิจารณาดูความพร้อมของสภาพพื้นที่ของเราเป็นหลัก ความถนัดและความจำเป็นที่ต้องใช้ว่าเราสามารถเอามาใช้กับพื้นที่ได้หรือยัง เพราะสภาพบางพื้นที่เป็นสวนที่สืบทอดมา รูปแบบพื้นที่อาจไม่เหมาะสมที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ได้ และต้องปรับทั้งเทคโนโลยีและภูมิปัญญาของพ่อแม่เข้าด้วยกัน ให้เขาเข้าใจและยอมรับ เพื่อเดินไปด้วยกันได้”

# # #

ข้อมูลจากรายการ Club Farmday ตอน เกษตรแม่นยำ ด้วยสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ

บทความเพิ่มเติม ทำเกษตรให้แม่นยำ “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” ช่วยได้ จากหนังสือ วิทย์พลิกชีวิต เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี 

“สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” เครื่องมือช่วยทำเกษตร