ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ “ไร่เพื่อนคุณ ผักและผลไม้ไร้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 100%” ริมถนนโชคชัย-เด่นอุดม อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เชื้อชวนให้คนรักสุขภาพแวะจับจ่ายผลผลิต ภายในพื้นที่ 26 ไร่ถูกจัดสรรเป็นโรงเรือนเพาะปลูก 48 โรงเรือนที่หมุนเวียนปลูกพืชหลักอย่างเมล่อนและแตงโม สลับกับพืชผักอย่างถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา ขณะที่ด้านหน้ามีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพพืชผัก ห้องประชุม ร้านค้าและร้านอาหาร
“ไร่เพื่อนคุณ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดย มงคล สุระสัจจะ อดีตข้าราชการที่เห็นปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ การกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เขาจึงตั้งใจที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณทำศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกร โดยยึดแนวทางสำคัญ “3 ปลอดภัย 3 เอาชนะ” คือ เกษตรกรปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย และเอาชนะกลไกตลาด ฤดูกาล ยาฆ่าแมลง
“ตอนนั้นกระแสเมล่อนมาแรง ก็คิดว่าถ้าทำเมล่อนน่าจะได้ราคา ส่วนแตงโม เป็นผลไม้ทั่วๆ ไป แต่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก แต่พ่อต้องการทำแตงโมไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เป็นสินค้าระดับบนคู่กับเมล่อน” สุระเทพ สุระสัจจะ หนึ่งในผู้บริหาร “ไร่เพื่อนคุณ” ย้อนถึงที่มาของผลผลิตขึ้นชื่อของที่นี่
นอกจากพื้นที่ 26 ไร่แห่งนี้ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายแล้ว “ไร่เพื่อนคุณ” ยังมีพื้นที่ปลูกเมล่อนอีกกว่า 50 โรงเรือนในอำเภอเมือง จ.บุรีรัมย์ ผลผลิตของไร่เพื่อนคุณ มีทั้งเมล่อน แตงโมพืชผักปลอดภัย ซึ่งจำหน่ายที่หน้าร้าน ห้างโมเดิร์นเทรดในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง โรงพยาบาล 13 แห่งในบุรีรัมย์ รวมถึงจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
สุระเทพ เข้ามาช่วยงานที่ไร่เมื่อปี 2560 หลังจากผลผลิตของไร่ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้เขาจะไม่ชื่นชอบงานเกษตรมาแต่ต้น แต่อาศัยที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ เขาจึงเป็นผู้เชื่อมโยงความรู้ด้านเกษตรและเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับปรุงผลผลิตของไร่ รวมถึงยังใช้ความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาจัดการระบบงานต่างๆ
“ความรู้และเทคโนโลยีจำเป็นในการทำเกษตรมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและการันตีคุณภาพให้ลูกค้าได้”
สุระเทพ มองเห็นความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในแปลง เขาเริ่มจากการติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลารดน้ำ (timer) เพื่อหวังลดภาระเกษตรกร (คนงาน) ในการรดน้ำ “แทนที่จะต้องเปิดปิดวาล์วน้ำ ยืนรดน้ำ ให้เขาไปทำกิจกรรมอื่นของไร่ที่ตอบโจทย์รายได้มากขึ้น” ขณะเดียวกันจากที่เข้าไปเรียนรู้ในโรงเรือน ทำให้เขาเกิดคำถามว่า ให้น้ำแค่ไหนถึงจะพอ
“เราก็เกิดคำถามว่าการให้น้ำแต่ละครั้งเพียงพอต่อพืชมั้ย ให้น้ำเกินหรือเปล่า ที่พืชตายเกิดจากการให้น้ำหรือเปล่า ควรให้น้ำกี่นาที ความชื้นในโรงเรือนเป็นสาเหตุของโรคหรือเปล่า แล้วถ้าลดความชื้น ต้องเป็นความชื้นเท่าไหร่ ฯลฯ มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย แต่หาคำตอบไม่ได้ การทำเกษตรมักมาจากความรู้สึก ไม่มีตัวเลข ไม่มีข้อมูลที่เอามาวิเคราะห์ จนได้มาฟังอาจารย์โอภาสพูดถึงเทคโนโลยีไวมาร์คที่เก็บข้อมูลสภาวะความชื้นดิน อากาศ แสงทุกๆ ช่วงเวลาเป็นตัวเลข ฟังแล้วก็สนใจ แล้วเราก็ศึกษาเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) มาบ้าง ทำไมไม่ลองล่ะ”
หลังเวทีบรรยายในครั้งนั้น สุระเทพ เข้าไปบอกถึงความต้องการ “เทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ไร้สายสำหรับการติดตามสภาวะแวดล้อมในฟาร์มเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการ หรือไวมาร์ค” (WiMaRC: Wireless sensor network for Management and Remote Control) ไปติดตั้งที่ไร่ ซึ่งเขามองไปถึงการต่อยอดเป็นจุดเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีให้เกษตรกร หลังจากการพูดคุยกับดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. นำไปสู่การติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวในปลายปี 2561 ภายใต้การทดสอบและสังเคราะห์เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือน
ทีมวิจัยติดตั้งระบบอุปกรณ์ลูกข่าย 3 จุด คือ จุด A บริเวณกลางโรงเรือน จุด B บริเวณท้ายโรงเรือนด้านใน (ลูกข่าย) และจุด C ริมนอกโรงเรือน (แม่ข่าย) โดยจุด A และ B ประกอบด้วยเซนเซอร์วัดค่าความชื้นในดิน เซนเซอร์วัดค่าความชื้นในอากาศ และเซนเซอร์วัดค่าความเข้มแสงติดตั้ง 2 ตำแหน่ง คือด้านบนและล่างของต้น เนื่องจากปริมาณแสงที่ต้นพืชได้รับไม่เท่ากัน นอกจากนี้ยังติดตั้งกล้องอีกหนึ่งจุดภายในโรงเรือน
จากการใช้งานมาราวหนึ่งปี สุระเทพ บอกว่า เทคโนโลยีนี้ติดตามสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวกับพืช (monitor) ไม่ใช่การควบคุม (control) โดยใช้ข้อมูลทางสถิติจากระบบมาบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่เกิดจากแสง อุณหภูมิ ความชื้นในดินและอากาศ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต
“เราใช้ข้อมูลมาช่วยจัดการ เช่น ดูข้อมูลย้อนหลังและภาพจากกล้องว่าเกิดเชื้อราที่ผลผลิตช่วงเวลาไหน แล้วดูตัวเลขความชื้นสะสมในช่วงนั้นว่าสะสมมากน้อยแค่ไหน พอรู้ว่าเชื้อราเริ่มก่อตัวในระยะความชื้นสูงเป็นเพราะการคายน้ำและอุณหภูมิในโรงเรือน ก็ลองงดการเปิดสปริงเกิลแล้วเก็บข้อมูลว่าช่วยลดการเกิดโรคได้มากน้อยแค่ไหน หรือระยะเวลาการให้น้ำ เราได้ค่าประมาณการณ์แล้วว่าแต่ละฤดูกาลควรให้น้ำบ่อยแค่ไหน แต่ก็ต้องไปปรับใช้และเก็บข้อมูลต่อไป”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีไวมาร์ค สุระเทพ มองว่า ตัวเลขที่ได้จากเซนเซอร์วัดค่าความชื้นดินมีส่วนช่วยให้ลดต้นทุนค่าไฟและค่าน้ำ “แทนที่เปิดน้ำนานๆ ตามความรู้สึกว่าพืชยังต้องการ แต่ค่าที่ได้ทำให้เปิดน้ำน้อยลง ปั๊มทำงานน้อยลง” ซึ่งการเปิดน้ำน้อยลงทำให้การเกิดโรครากเน่าน้อยลงด้วย มีส่วนช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ไม่เกิดโรครากเน่า 5-10% นอกจากนี้ข้อมูลตัวเลขที่เก็บในระบบเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสม เช่น การเพิ่มระยะเวลาการให้แสงในฤดูหนาว เพื่อให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่เหมือนในช่วงฤดูร้อน หรือการติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อลดความชื้นในโรงเรือน
ด้วยเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกร การติดตั้งเทคโนโลยีไวมาร์คจึงได้รับความสนใจจากผู้ศึกษาดูงานโดยเฉพาะเหล่าเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่ง สุระเทพ จะแนะนำการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บในระบบ รวมถึงการดูแลตรวจสอบอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ และด้วยเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยี เขายังต่อยอดความคิดและความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณภาพผลผลิตของไร่ให้ดียิ่งขึ้น ให้สมกับชื่อของไร่ “เป็นเพื่อนกับคุณและให้สิ่งดีๆ กับเพื่อน”
# # #
“ไร่เพื่อนคุณ”
ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
โทรศัพท์ 089 9249927
www.facebook.com/raipueankun