ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่งวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2544 [มติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง]
ดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547 [มติคณะรัฐมนตรี]
ประวัติการทำงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ผู้บุกเบิกการจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้บุกเบิกท่านอื่นๆ และทำให้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีแบบแผน เป็นระบบ เริ่มรับราชการในปี 2518 เป็นอาจารย์สอนหนังสือและทำวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากลกว่า 30 เรื่องใน Proceedings of the IEEE และ IEEE Transactions/Journals
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 10 เมื่ออายุ 39 ปี และระดับ 11 เมื่ออายุ 40 ปีเศษ และดำรงตำแหน่งอธิการบดี 2 สมัยติดต่อกัน ขณะเดียวกัน ก็ได้ไปช่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งปัจจุบันสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเป็นผู้อำนวยการคนแรกของเนคเทค ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการ สวทช. จนครบวาระ 2 สมัย ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษียณอายุราชการเมื่อกันยายน พ.ศ. 2548 แต่ยังทำงานด้านวิจัยและพัฒนา เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญพิเศษของ สวทช. และดำรงตำแหน่งเป็นภาคีสมาชิก สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
รางวัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- นักวิจัยดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2527
- รางวัลนักวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2534
- รางวัลส่งเสริมการใช้ดาวเทียมระหว่างประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากกระทรวงไปรษณีย์และโทรเลข ประเทศญี่ปุ่น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการสื่อสารและกิจกรรมภายใน) พ.ศ. 2541
- รางวัล “ผู้นำการจัดการเทคโนโลยี” (LTM) เป็นคนแรกของประเทศไทยจาก PICMET (Portland International Center for Management of Engineering and Technology)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) เมื่อ พ.ศ. 2540 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) เมื่อ พ.ศ. 2542 และทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) เมื่อ พ.ศ. 2548