การค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปเพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ

ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2560 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS)”

1

ดร. วิรัลดา และคณะ นำเอาเทคโนโลยี genotyping-by-sequencing (GBS) มาใช้ในการค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิป (single nucleotide polymorphism, SNP) ซึ่งเป็นกระบวนการค้นหาสนิปแบบทั่วทั้งจีโนม (genome-wide SNP discovery) ที่ผนวกเทคนิคการลดความซับซ้อนของจีโนมด้วยเอนไซม์ตัดจำเพาะ (genome complexity reduction) เข้ากับการใช้เทคโนโลยี next generation sequencing ในการหาลำดับเบส วิธี GBS เป็นเทคโนโลยีเดียวในปัจจุบันที่สามารถค้นหาและจีโนไทป์สนิปได้ในขั้นตอนเดียว ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถค้นหาและจีโนไทป์สนิปได้มากถึง 50,000 – 100,000 ตำแหน่งจากจีโนมพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากวิธี GBS เป็นการค้นพบสนิปขึ้นใหม่ (de novo SNP discovery) จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพืชได้ทุกสปีชีย์ รวมถึงพืชที่ยังไม่มีข้อมูลทางจีโนมิกส์ การค้นหาและจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปด้วยเทคโนโลยี GBS ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้เทคโนโลยี GBS ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาสนิปสำหรับการตรวจเอกลักษณ์พันธุ์พืช และการตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะการจำแนกพันธุ์พืชที่มีฐานพันธุกรรมใกล้เคียงกัน โดยเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปด้วยวิธี GBS จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจไทย เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสินค้าทางการเกษตรในระยะยาวต่อไป

สำหรับในปีนี้ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้มอบให้แก่ ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงาน “หุ่นยนต์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” สำหรับนิทรรศการภายในงาน นอกจากนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยที่น่าสนใจซึ่งผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้แก่ “อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อขดติดครีบเกลียว” โดย ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี “ต้นแบบโรงงานผลิตฮอโลแกรมสลักแบบครบวงจรเชิงพาณิชย์” โดย คุณอาโมทย์ สมบูรณ์แก้วและคณะ จากเนคเทค และ “แพลทฟอร์มพจนานุกรมอิเล็กทรอนอกส์เล็กซิตรอน” โดย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ และคณะ จากเนคเทค สำหรับผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้แก่ “เอนอีซ (ENZease): เอนไซม์ดูโอสำหรับการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว” โดย ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จากไบโอเทค และ “เทคโนโลยีการขยายกำลังงานสัญญาณวิทยุสำหรับอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย” โดย ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง จากเนคเทค

2
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ขึ้นตั้งแต่ปี 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่นทั้งในภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการ และนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังและต่อเนื่องของประเทศไทย โดยในปีนี้มีการแถลงข่าวเปิดตัวเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2560 โดย น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพมหานคร