รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พานักข่าวเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จ.ฉะเชิงเทรา แหล่งผลิตไมโครชิประดับ 0.5 ไมครอน ครั้งแรกในไทย พร้อมประกาศโกอินเตอร์ เดินหน้ารับออเดอร์ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์
ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center) หรือ TMEC ที่ จ.ฉะเชิงเทรา อวดโฉมศูนย์ที่มีความเป็นเลิศด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ศูนย์ TMEC ได้พัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดเป็นฐานสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ในการประยุกต์ใช้งานจริงและเป็นต้นแบบสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นการสร้างบุคลากรที่มีพื้นฐานชั้นสูงด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาครอบคลุมสาขาต่างๆ ของไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งที่เกี่ยวเนื่องถึงนาโนอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปด้วย
ดร.ประวิช ได้พาเข้าเยี่ยมชมอาคาร “ห้องสะอาด” ระดับ class 100 โดยติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับกระบวนการผลิตไมโครชิปด้วยเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ซึ่งมีศักยภาพการดำเนินการในการผลิตไมโครชิป ระดับ 0.5 ไมครอน ได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีผลงานระดับประเทศและระดับสากล เช่น การพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลจุลภาคให้บริษัทวิจัยของโซนีจากประเทศสิงคโปร์ ในเชิงพาณิชย์โดยสามารถแข่งขันได้ทั้งด้านคุณภาพและราคากับคู่แข่ง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของสิงคโปร์ โดยบริเวณที่เข้าเยี่ยมชม คือ “ห้องล้างน้ำยาไวแสง” เครื่องผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ศูนย์ควบคุมการทำงานเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับกระบวนการผลิตไมโครชิป ที่เก็บน้ำกลั่นสำหรับผลิตแผ่นเวเฟอร์ และจอมอนิเตอร์แสดงการทำงานของกระบวนการผลิตไมโครชิป
ดร.ประวิช กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทีเมค ประสบความสำเร็จในการพัฒนา MEMS เชิงพาณิชย์ให้กับบริษัท ราดิเมดิคอล ซิสเต็ม จำกัด ( RADI)โดยบริษัทฯได้ทำข้อตกลงให้ทีเมค และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ MEMS วัดความดันในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ทีเมค ยังประสบความสำเร็จในการผลิตไมโครชิป CMOS ระดับ 0.8 ไมครอน (เส้นผมคนเรามีขนนาด 100-400 ไมครอน) ในการผลิต NMOS และ PMOS ด้วยเทคโนโลยีขนาด 0.8 ไมครอนในห้องสะอาดของทีเมค เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
ทั้งนี้ NMOS และ PMOS ถือเป็นส่วนประกอบย่อยที่สุดของวงจรรวม ที่สามารถนำไปผลิตได้หลายๆประเภท อาทิ ไมโครคอนโทรลเลอร์ สมาร์ตเซนเซอร์ RFID ฯลฯ โดยดร.ประวิช ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจในอนาคตต่อไปคือ 1.รับจ้างผลิต CMOS เชิงพาณิชย์ระดับ 0.8 ไมครอน โดยกำลังติดต่อกับบริษัทเครือญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันออกแบบชิปยานยนต์ที่ญี่ปุ่นแล้วส่งไปผลิตที่จีนและนำมาประกอบที่ประเทศไทย โดยเชิญชวนให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยโดยทีเมค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตไมโครชิปสำหรับยานยนต์ขึ้นในประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มของการผลิตยานยนต์ให้สูงขึ้น นำเทคโนโลยีและการผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทคเข้าไทยและจะเป็นการสร้างวงจรการผลิตไมโครชิปให้ครบกระบวนการเป็นครั้งแรกของไทย โดยขณะนี้กำลังประสานงานและคาดว่าจะเป็นรูปธรรมได้ในช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า
2.จะส่งเสริมการสร้างนักออกแบบไมโครชิปอย่างครบวงจรในประเทศร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย โดยสอนการออกแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเขียนโปรแกรมและการนำแบบที่ออกมาผลิตเป็นชิปจริงที่ทีเมค โดยขณะนี้ทีเมคอยู่ในขั้นตอนการผลิตชิปต้นแบบ เช่น melody chip ซึ่งสามารถเอาไปใช้เป็นต้นแบบในการให้นักศึกษาเรียนรู้เรียนลัดการออกแบบไมโครชิปได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยจะสามรถมีชิปที่ใส่เพลงตามต้องการได้ เป็นการส่งเสริมทั้งการสร้างคน และการสร้างชิปเพลงเพื่อใช้งานจริงได้ไปในตัวจากช่วงนี้จนถึงปีหน้า ความพร้อมของทีเมคด้านนี้จะเด่นชัดยิ่งขึ้น และคาดหวังว่าจะสามารถหาลูกค้าจ้างผลิตได้จนเต็มกำลังการผลิตคือ 500 เวเฟอร์ต่อ 1 เดือน ได้ในที่สุด
“การที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ทีเมคเดินหน้าขึ้นสู่เทคโนโลยีการผลิตไมโครชิประดับสูงต่อไป ก็ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรชุดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ในขณะเดียวกันทีเมคกำลังเดินหน้ากับภาคอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในการผลิตแม่พิมพ์ สำหรับการผลิตหัวอ่านและอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ในการร่วมกันสร้างบุคลากรสำหรับโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์แบบผลึกที่จะเปิดไว้ในปี 2549 อีกด้วย”ดร.ประวิช กล่าว
ทีเมคจะเป็นคำตอบที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องจับตาดูกันต่อไป ซึ่งหากทำได้จริงจะเป็นการดึงดูดการลงทุนด้านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงนับเป็นกระบวนการต่อยอดให้เกิดการจ้างงานวัฏจักรใหม่ พร้อมทั้งเป็นหนทางไปสู่การพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
https://mgronline.com/science/detail/9480000162044