2. ด้านวัสดุ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
สวทช. มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การพัฒนามาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยงานวิจัยด้านวัสดุครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัสดุ การขึ้นรูปวัสดุให้เป็นชิ้นส่วนที่มีรูปร่างและสมบัติตามความต้องการในการใช้งานซึ่งมีหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ
ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานเด่นด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด ที่ได้รับการต่อยอดขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว การพัฒนา “กราฟีน” วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งมีการต่อยอดไปผลิตหมึกนำไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และนำไปทำเซนเซอร์ พัฒนาเป็นชุดตรวจต่าง ๆ รวมถึงประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และสร้างต้นแบบแบตเตอรีต่าง ๆ
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้การพัฒนาสารเคลือบอนุภาคนาโน เพื่อใช้งานกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ประหยัดพลังงานและร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานน้ำมันดีเซล B10 อย่างแพร่หลาย โดยนำเทคโนโลยี H-FAME มาใช้ ซึ่งมีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะและเป็นที่ยอมรับทั่วไป
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” (ENZease) หรือเอนไซม์ดูโอที่สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว นอกจากนี้ สวทช. ได้สร้าง “ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ” เพื่อให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุการเสื่อมสภาพของวัสดุอันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง