“เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” ของสวทช. ได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2562

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 (วทท.45) ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ (Principal Investigator) “เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562” โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมแสดงความยินดี

 

โครงการ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย เริ่มในปี พ.ศ. 2550 จากการรวมกลุ่มของคณะวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ (ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) เป็นผู้อำนวยการโครงการ, ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี (นักวิจัยอาวุโส) เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบซอฟต์แวร์ และ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป (นักวิจัยอาวุโส) เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบฮาร์ดแวร์ และคณะวิจัยจากสวทช. อีกรวมทั้งสิ้น 19 คน จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ของสวทช. ต่อมาบางส่วนได้ย้ายไปสังกัดศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ของสวทช. เช่นกัน

การดำเนินงานเริ่มจากงานทันตกรรมเป็นอันดับแรก ตั้งแต่การออกแบบ วิจัย พัฒนา ผลิตต้นแบบตามมาตรฐานสากล จนกระทั่งถ่ายทอดสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้จริงจนปัจจุบัน เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวยบางครั้งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า โคนบีมซีที (Cone Beam CT) หรือ ซีบีซีที (CBCT) ได้รับการออกแบบและผลิตออกมาเป็น 3 ลักษณะเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ ได้แก่

1) เครื่องเดนตีสแกน (DentiiScan) เน้นงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า

2) เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) สามารถเคลื่อนย้ายได้ เน้นการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

3) เครื่องมินีสแกน (MiniiScan) เน้นการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด

เครื่องโคนบีมซีทีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นได้มีการทดสอบคุณภาพของภาพด้วยแฟนทอม (Phantom) มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีและไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีขั้นตอนตามหลักสากล แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบทางคลินิกก่อนนำไปสู่การใช้งานจริงกับผู้ป่วยในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะนำออกไปผลิตจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งานในประเทศ คณะวิจัยจึงขอรับรองมาตรฐานสากล ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) ของกระบวนการผลิตในโรงงานนำร่องของ สวทช. ที่จัดตั้งขึ้นมาอีกด้วย ปัจจุบันมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนแล้ว

กรณีเครื่องเดนตีสแกนนั้นติดตั้งใช้งานไปแล้วราว 60 เครื่องในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยและมีการใช้งานไปแล้วกว่า 7000 ครั้ง ส่วนเครื่องโมบีสแกนใช้งานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยกับผู้ป่วยกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนเครื่องมินีสแกนใช้กับผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปแล้วกว่า 100 ครั้ง

เครื่องโคนบีมซีทีนับเป็นตัวอย่างงานวิจัยที่นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศแล้ว กรณีเครื่องเดนตีสแกนยังทำให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์เพื่องาน ทันตกรรมรากฟันเทียม รวมทั้งด้านการวินิจฉัยโรคอื่นๆ อีกด้วย อาทิเช่น ขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ มะเร็งกรามช้าง ฟันฝัง ถุงน้ำ และไซนัสอักเสบ เป็นต้น กรณีเครื่องโมบีสแกนช่วยงานด้านการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้งผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนเครื่องมินีสแกนช่วยลดระยะเวลาในการใช้ห้องผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ส่งผลให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเนื่องจากการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมซ้ำ

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มี รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของรางวัลว่า “ศักยภาพและความสามารถในการสร้าง/พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยที่สาคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้นๆ อย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีแรกของการมอบรางวัล จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2561) มีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งประเภทกลุ่มและบุคคลไปแล้วรวม 30 รางวัล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่รวม 28 รางวัล ทั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์จะจัดงานประกาศผลรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ อีกครั้งหนึ่ง ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร