3 ทศวรรษ สวทช. กับการขับเคลื่่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ความมั่นคงของประเทศ การรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ

5. ด้านความมั่นคงของประเทศ การรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ

สวทช. ทำงานทางด้านความมั่นคงมาระดับหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมมือกับสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ในการพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า “ทีบ็อกซ์” เครื่องรบกวนสัญญาณไร้สาย เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ จากผลงาน “ทีบ็อกซ์” ที่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศเกิดความเชื่อมั่นในผลงานของนักวิจัยไทยและต่อยอดความร่วมมือไปยังเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เกราะกันกระสุน เสื้อเกราะกันกระสุน วิจัยและพัฒนาคุณภาพใบพัดยางและยางกันกระแทกท่าเรือ ต้นแบบคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่นที่ใช้ในเรือตรวจการณ์ ต้นแบบอาหารพลังงานสูงน้ำหนักเบาสำหรับพกพา E-nose ในการตรวจวัดกลิ่นแทนสุนัขทหาร และระบบติดตามผุ้ต้องสงสัย เป็นต้น

สวทช. ยังสร้างความปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในงานด้านสมาร์ตซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ เช่น Traffy Waste” (ทราฟฟี่ เวสต์) หรือ ระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ และ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมด้วยการออกแบบและพัฒนา “ห้องโดยสารรถพยาบาลให้ได้โครงสร้างความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทําที่เกิดขึ้นกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ” และระบบ “SOS Water” เพื่อแก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ

สำหรับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันดีดีซี-แคร์ ติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรควิด-19 ร่วมกับกรมควบคุมโรค

นอกจากนี้เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามเผชิญภาวะวิกฤต สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ด้วยวิธีสกัด RNA เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 แบบง่าย และเทคโนโลยีโคซี-แอมป์ ชุดตรวจโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ยับยั้งการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสำหรับการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น “PETE เปลปกป้อง” เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแรงดันลบแบบปลอดภัย อุปกรณ์ “MagikTuch” ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส และ “นวัตกรรมอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (Girm Zaber Robot) ซึ่งมีทั้งรุ่นที่เป็น Station และหุ่นยนต์ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี – ซี (UV-C) สามารถเข้าถึงการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ดี

ดาวน์โหลดเอกสาร