6. ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สวทช. ริเริ่มการสนับสนุนภาคเอกชนด้วยการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทป (ITAP ) ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในการสนับสนุนและผลักดันให้เอสเอ็มอี สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม สามารถยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมีการวิจัย พัฒนาและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง และต่อยอดส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วยนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกในไทย “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” ซึ่งเป็นนิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
TMC สวทช. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมและมีบริการสนับสนุนที่ครบวงจรทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจและด้านการเงิน เช่น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ให้การสนับสนุนบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์อัปด้านเทคโนโลยีที่มีไอเดียแล้วต้องการต่อยอดธุรกิจ การร่วมลงทุน การดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) และการอนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัย (Licensing) ซึ่งเป็นกลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด การประเมินจัดลำดับเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรับทราบถึงขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และบัญชีนวัตกรรมไทย
นอกจากนี้ สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นตัวเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีโครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัย ทดสอบ ประเมินความเป็นไปได้สู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์
ภายใต้การดำเนินงานของ สวทช. ยังมี “ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” (TBRC) ศูนย์กลางในการให้บริการชีววัสดุที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ครอบคลุมบริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ แบบครบวงจร “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” (NBT) ที่ให้บริการและเป็นแหล่งจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว และการพัฒนา “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง ในการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สวทช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการให้บริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานสากล เช่น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (CTEC) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES)