นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 จากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานการประชุมวิชาการนานาชาติ PACCON 2018
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 คุณสมศักดิ์ สินสุวรรณรักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้ร่วมแสดงความยินดีกับ นักวิจัย ในโอกาสเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ประจำปี 2560 ในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference 2018 (PACCON 2018) ภายใต้หัวข้อ เคมีสู่อนาคตที่ยั่งยืน “Chemistry toward a Sustainable Future” ระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย
- ดร. ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวัสดุนาโนและวิศวกรรมระบบนาโน ได้รับรางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ประเภทที่ 2 CST Citation Award 2017
- ดร. สุภาวดี นาเมืองรักษ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการคำนวณระดับนาโน ได้รับรางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ประเภทที่ 3 Wiley-CST Award for Contribution to Green Chemistry 2017
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ PACCON ถือเป็นกิจกรรมที่สมาคมเคมีกำหนดจัดขึ้นปีละครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2002 โดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของไทยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ซึ่งในการจัดครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “Chemistry Toward a Sustainable Future” ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของสมาคมเคมีฯ ที่ว่า “นำความรู้เคมีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาคมที่ดีขึ้น” เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของนักวิชาการ นักอุตสาหกรรม อาจารย์ นิสิต นักศึกษาด้านเคมีและผู้สนใจ เพื่อการพัฒนาในระดับประเทศและมีส่วนร่วมงานวิชาการในระดับนานาชาติ และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการ ได้นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชปณิธานในการเสริมสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ โดยมีนักเคมีที่มีชื่อเสียงจากในประเทศและนักเคมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกกว่า 40 คน ร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญใน 9 สาขาที่ครอบคลุมศาสตร์ทางเคมีด้านต่าง ๆ นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม มีนักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาจาก 24 ประเทศทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน