งานวิจัยเรื่อง PTT Yeast Technology Platform ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้รับรางวัล PTT Innovation Awards สาขา Innovative Idea ระดับ Silver จากโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท. ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการค้นหาและพัฒนายีสต์สายพันธุ์ทนร้อนที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลที่อุณหภูมิสูง โดยผลงานนี้เป็นการร่วมวิจัยของคณะนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ และคุณพิษณุ ปิ่นมณี จากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ และคณะนักวิจัยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำโดย ดร.ณษพัฒน์ บุญวิทยา และคุณสุทธิพงศ์ ธัญญะพิเศษศักดิ์ ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นในงาน PTT Group Excellence Days 2016 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมี คุณกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบรางวัล
โดยปกติแล้วการทำงานของยีสต์ในการหมักเอทานอล โดยเฉพาะยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งมีการใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้ออยู่ในช่วงอุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส หากต้องการให้ยีสต์ผลิตเอทานอลในปริมาณมาก จำเป็นต้องควบคุมระดับอุณหภูมิในกระบวนการหมักให้อยู่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้การผลิตเอทานอลในระดับอุตสาหกรรมมักจะเกิดปฏิกิริยาความร้อนร่วมด้วย และความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกระบายออกผ่านระบบการหล่อเย็น (Cooling) เพื่อให้จุลินทรีย์ไม่ถูกความร้อนทำลายและยังสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการค้นหายีสต์สายพันธุ์ทนร้อนที่มีประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และหมักเอทานอลที่อุณหภูมิสูงได้ นับเป็นทางเลือกที่ช่วยลดระยะเวลาการหมักให้สั้นลงและไม่ต้องใช้ระบบหล่อเย็นในการระบายความร้อน ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30-35 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์อื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน โดยเฉลี่ยแล้วมักมีอุณหภูมิช่วงกลางวันสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ดังนั้น งานวิจัยที่ศึกษาและพัฒนาการคัดเลือกยีสต์สายพันธุ์ทนร้อนเพื่อนำไปพัฒนากระบวนการผลิตเอทานอลที่อุณหภูมิสูงจึงเป็นประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในประเทศไทยอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป