บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นางสุวิภา วรรณสาธพ

บทสัมภาษณ์นางสุวิภา วรรณสาธพ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. (ด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) และ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่
สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. (ด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) และ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นางสุวิภา วรรณสาธพ
  • ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) และ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

แนะนำตัวเอง 

ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นจึงเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand หรือ BOI) ต่อมาได้รับทุน Fullbright ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท 2 ปริญญา คือ International Trade และ International Business จากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ยุโรปเป็นเวลา 9 ปี
แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย และเริ่มทำงานที่ สวทช.

จากวันแรกที่เริ่มต้นทำงานที่ สวทช. จนถึงวันนี้ รวมเป็นเวลา 22 ปี ตำแหน่งปัจจุบัน คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โดยหน้าที่หลัก คือ การดูแลกลไกในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้งในเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) และเอกชนที่ทำงานในนิคมวิจัย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ความรู้และความสามารถที่สำคัญในงาน เทคนิควิธีในการทำงาน และคติประจำใจในการทำงาน

ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชน และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับภาคธุรกิจ สำคัญที่สุด คือ สิ่งเหล่านั้นจะต้องช่วยผลักดันให้งานของ สวทช. รุดหน้า ด้วยการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ และความสามารถของนักวิจัย สวทช. สร้างประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศชาติ

เนื่องจากตนเองไม่ได้เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรง แต่เรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารจัดการ ซึ่งองค์กรวิจัยเช่น สวทช. นั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังนั้น โจทย์สำคัญในการทำงานของตนเอง คือ จะทำเช่นไรให้สามารถนำความรู้ ความสามารถ และความถนัดของตนเอง มาช่วยสนับสนุน
งานของ สวทช. ให้ได้มากที่สุด

“สิ่งที่ตนเองพยายามทำในมุมของการทำงาน คือ การจะต้องเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญ ในการที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง Lab to Market กับ Market to Lab และจะต้องทราบความต้องการที่แท้จริง
ของภาคเอกชนและอุตสาหกรรมว่าคืออะไร ซึ่งเกิดจากการศึกษาข้อมูล และการรับฟังโจทย์หรือปัญหา
ที่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมพบ จากนั้นพิจารณาว่าผลงานหรือกิจกรรมใดของ สวทช. ที่จะสามารถช่วยตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้”

เพราะฉะนั้น เทคนิคสำคัญในการทำงานสำหรับตัวเอง คือ “รู้เขา รู้เรา” หมายถึง ต้องรู้ก่อนว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราก็กลับมาพิจารณาดูว่าเรามีอะไรจะให้เขาได้ ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่ทำงานร่วมกับ สวทช. เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นใน สวทช. ในฐานะพันธมิตรร่วมทางที่ดี ประเด็นนี้คือสำคัญที่สุด

ส่วนนี้ต้องการเน้นว่า ตนเองจะฟังเยอะมาก และฟังอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ต้องรู้จักอ่านบริษัทเอกชนในเชิงธุรกิจ ซึ่งบางครั้งบริษัทเอกชนไม่ได้บอกกับเราตรงๆ แต่เราจะต้อง read between the line คือ อ่านระหว่างบรรทัด บางทีเขาไม่พูดหรือไม่ได้บอกออกมาตรงๆ แต่เราต้องเข้าใจบริบทของเขา

อีกทั้ง ก่อนที่จะไปพบภาคเอกชนแต่ละราย จะต้องศึกษาข้อมูลและทำการบ้านเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจ กิจการที่กำลังดำเนินการ  ไปจนถึงคู่แข่งทางธุรกิจของเจ้าของธุรกิจดังกล่าวว่าเป็นเช่นไร ทั้งนี้ก็เพื่อ “รู้เขา รู้เรา” โดยเจ้านายของตนเองท่านแรก คือ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ จะบอกว่าตนเอง [คุณสุวิภาฯ] เหมือนเป็น ซีไอเอ (CIA) หมายความถึง รวบรวม ประมวล และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญและเป็นประโยชน์ ที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่าง สวทช. และ พันธมิตร

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ งานทุกอย่างที่ทำจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่มีทีมงานที่ดี ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา ตนเองโชคดีมากที่ทีมงานที่เก่ง และเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะต้องทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

“คติในการทำงาน คือ Nation First ตลอดระยะเวลาในการทำงานตั้งแต่เรียนจบ ตนเองได้รับ ทุนภูมิพล เหรียญทอง พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้ว่า

“คนที่ได้รับทุนภูมิพลเปรียบได้เหมือนเพชร แล้วเพชรไม่ว่าจะตกไปที่ไหนก็จะต้องส่งประกายให้สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศและแผ่นดินนี้ได้”

จากพระราชดำรัสดังกล่าว ตนเองจึงพยายามที่จะทำงานอยู่ในภาคราชการ ที่ถึงแม้ตนเองจะทำงานทางด้าน Marketing หรือ การตลาด แต่ Marketing for none profit organization หรือ การตลาดเพื่อองค์กร
ไม่แสวงผลกำไร มันยิ่งใหญ่มาก ถ้าสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศ ไม่ใช่ได้แค่กับบริษัทที่ทำให้เกิดการจ้างงาน แต่พันธกิจของ สวทช. คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

ความภาคภูมิใจในการทำงาน มาจากผลสำเร็จของงานหลายๆ เรื่อง ตลอดระยะเวลาการทำงาน สิ่งที่คิดริเริ่ม (initiative) ต้องได้รับการยอมรับและเห็นด้วย (buy-in) จากทั้งทีมงานและผู้บริหารในการที่จะริเริ่มโครงการใหม่ใดๆ ก็ตาม ต้องขอขอบคุณหัวหน้าที่ให้ความไว้วางใจและอนุญาตให้ดำเนินการ

ช่วงที่ทำงานที่ Software Park หรือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ได้ทำงานกับ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ตนเองได้ริเริ่ม Incubation Center ของ Software Park คือ ศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในปัจจุบันเรียกว่า Startup ซึ่งจะเห็นนักวิจัยและนักธุรกิจขนาดเล็กทุกวันนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด

เมื่อย้ายมาทำงานที่ สวทช. ในสมัย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล เป็นผู้อำนวยการ สวทช. ตนเองถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ดูแลด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่การใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการทำงานกับภาคเอกชน ตัวอย่างของงานที่ริเริ่ม เช่น NSTDA Investor’s Day ประกอบไปด้วย Thailand Tech Show และต่อมาภายหลังมี 10 Technologies to Watch หรือ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง โดยงานที่ริเริ่มมีเป้าหมายหลักเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจในการสามารถมองเห็นและเข้าถึงผลงานวิจัยของ สวทช. มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเสมือนเป็น Market place ที่ทำให้นักวิจัยและภาคธุรกิจได้พบปะหารือกัน เพื่อทำให้งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ถัดมาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ธุรกิจใดที่ต้องการเติบโตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นจะต้องสร้างสรรค์และสั่งสมทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง รวมถึงจะต้องรู้จักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น สวทช. จึงได้สร้างความร่วมมือ โดยเป็นหนึ่งใน Founder ของ LES Thailand (Licensing executives Society Thailand) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยทำให้ธุรกิจโดยเฉพาะ Startup สามารถระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจต่อไปได้ จากจุดนี้ สวทช. ได้จับมือกับหน่วยงานในประเทศเกาหลีใต้เพื่อขอทุนจากโครงการ KSP (Knowledge Sharing Program) จากโครงการนี้ประเทศเกาหลีใต้ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่ สวทช. ซึ่งปัจจุบัน สวทช. มีระบบในการประเมินทรัพย์สินทางปัญญา ระบบที่สามารถช่วยดูได้ว่าถ้าบริษัทต้องการระดมทุนหลังจากการประเมิน Thailand Technology Rating System เรียบร้อยแล้ว บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตมากน้อยเพียงไร

การสร้าง Angel Investor เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะ Deep Tech Startup ที่ต้องใช้เวลานานในการผลิตสินค้าแล้วสามารถขายได้ งานวิจัยของ สวทช. หลายเรื่องต้องใช้เวลานาน ดังนั้นจึงต้องการ Angel Investor แต่ประเทศไทย
ยังขาดเรื่องนี้ Angel Investor จะต้องรู้ เข้าใจ ใช้ความรอบรู้ (wisdom) ใช้เครือข่ายความร่วมมือ (connection)  และร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้ธุรกิจเจริญเติบโตและเข้าใจว่าจะต้องใช้เวลาในการที่จะบ่มเพาะและเติบโตไปด้วยกัน Startup หรือ นักวิจัยของ สวทช. ที่จะแยกตัวออกตั้งบริษัท (spinoff) ก็จะไม่ต้องทำผิดซ้ำกับสิ่งที่เขาได้เคยพลาดมาแล้ว หรือได้เรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ

การทำงานในช่วงต้น ตนเองทำงานในส่วนของ Software Park ขณะที่ในช่วง 6 ปีหลังก่อนที่จะเกษียณมาทำงานที่ Thailand Science Park หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน

“ตนเองบอกทีมงานเสมอว่า เราไม่ใช่ landlord หรือ เจ้าของที่ดิน เราไม่ใช่คนขายพื้นที่เช่าเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญเราจะต้องมี value added หรือ มูลค่าเพิ่มจาก connection หรือเครือข่ายที่เรามีการที่เราจะสามารถเชื่อมโยงบริษัทเอกชนกับเครือข่ายนักวิจัยของ สวทช. เราจะต้องรู้ว่านักวิจัยของ สวทช. เก่งในด้านใด สามารถดึงผู้เช่าทำงานร่วมกับนักวิจัยของ สวทช. ได้ หรือสามารถให้ลูกค้ามาใช้กลไกต่างๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ ตนเองไม่ได้มองแค่ สวทช. เท่านั้น กลไกต่างๆ จะต้องรวมเป็น value added ของ Thailand Science Park และ Software Park บริษัทเอกชนที่จะมาอยู่กับเรา ธุรกิจเขาจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ปัจจัยความสำเร็จ สำคัญที่สุด คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน จะต้องศึกษา เรียนรู้ และปรับใช้ความรู้ให้เหมาะสมกับบริบท  ในเชิงการตลาด เรียกว่า การสร้างจุดต่างที่จะมี value added ให้กับคนอื่น สิ่งนี้คือการคิดริเริ่มใหม่ๆ หรือ initiative ถัดมา คือ การทำงานร่วมมือกับพันธมิตร โดยหาก initiative มีคุณค่า (value) จะต้องสามารถสื่อสาร value ของเราให้คนอื่นยอมรับและเห็นด้วย (buy-in) รวมถึงให้การสนับสนุน

สิ่งที่สำคัญ คือ หัวใจในการพัฒนาธุรกิจ สิ่งที่ทีมทำเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครเคยทำมาก่อน จะต้องกล้าคิดและลงมือทำ โดยพยายามศึกษาว่าโอกาสอยู่ตรงไหน ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับใคร จะต้องมองว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไรโดยได้รับประโยชน์ร่วมกัน รู้เขาและรู้เรา เมื่อออกแบบสิ่งใดก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ แต่จะทดไว้ในใจเสมอว่าโจทย์ของ สวทช. คือ Nation First การมุ่งเน้นดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม สังคม และประเทศชาติเป็นหลัก

ความท้าทายสำคัญในการทำงาน และวิธีการบริหารจัดการ

ความท้าทายสำคัญ คือ คน การบริหารคนเป็นศาสตร์ที่สำคัญมาก ตนเองยังคงต้องเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
งานที่สำเร็จได้มีสิ่งที่ใช้มาตลอด คือ การพยายามสื่อสารกับทีมให้เห็นว่าเราจะเดินอย่างไร และให้เขามีใจร่วมกันไปกับเราในงานนั้น และต้องมีวิธี put the right man on the right job โดยต้องรู้ว่าลูกทีมเราเก่งด้านใด หรือยังขาดทักษะใดแล้วจะเสริมทักษะนั้นได้อย่างไร หากงานใดที่ยาก สอนลำบาก และมีเวลากระชั้นชิดในการดำเนินงาน โดยที่ทีมงานไม่มีทักษะที่จำเป็นในงาน ก็จะใช้วิธีการเสริมกำลัง คือ การให้คนเก่งในเรื่องนั้นเข้ามาช่วย

การบริหารคนจะต้องไม่กลัวที่จะใช้คนเก่งกว่าเราเพื่อมาช่วยเรา ยกตัวอย่างเช่น หากตัวเองมีข้อจำกัดในเรื่องใด ก็จะยกมือขอตัวช่วยซึ่งเป็นคนที่เก่งในเรื่องนั้นๆ เข้ามาช่วย อีกทั้ง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมจะต้องมีวิธีในการบริหารคนเก่งในทีม คนเก่งมักชอบความท้าทาย (challenge) เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งเป้าเพื่อให้เขาปีนขึ้นไป

งานพัฒนาธุรกิจต้องคิดริเริ่มและกล้าทดลองสิ่งใหม่ ตนเองจะให้โอกาสและพื้นที่ในการคิดริเริ่มและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ   ในข้อของงานที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หากสมาชิกในทีมอยากริเริ่มกิจกรรมใด ก็สามารถเสนอมาได้ เพื่อให้งานขององค์กรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตนเองในฐานะหัวหน้าทีมก็จะคอยให้การสนับสนุน

การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการในการทำงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19

สถานการณ์ COVID-19 มีผลกระทบต่อการทำงานอย่างมาก ตนเองดูแล Software Park และ Thailand Science Park ซึ่งลูกค้ารายย่อยก็จะกลับไปอยู่บ้านและทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งเมื่อเริ่มคุ้นชินกับการทำงานที่บ้านก็จะ
ไม่กลับมาเช่าพื้นที่ ส่วนลูกค้ารายใหญ่ก็ทยอยย้ายออก ตนเองไปดูลูกค้าทุกรายเพื่อสำรวจว่ามีอะไรที่จะสามารถช่วยได้ เพื่อไม่ให้ลูกค้าย้ายออก ซึ่งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ คือ การต้องการประหยัดงบประมาณของบริษัทลูกค้า สำหรับบริษัทผู้เช่าที่ยังไม่ย้ายออก
ก็ได้เข้ามาเจรจากับ Thailand Science Park เพื่อขอลดค่าเช่า ซึ่ง ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (ผู้อำนวยการ สวทช.) และ ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ เห็นด้วยกับเรื่องนี้ กอปรกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณของประเทศจำนวนค่อนข้างมากเพื่อการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งงบประมาณที่จัดสรรให้แก่ สวทช. ก็ถูกจำกัด ดังนั้น สิ่งที่ตนเองพยายามทำให้ได้ คือ การสนับสนุน สวทช. สร้างสมดุลระหว่างการสร้างรายได้และการลดต้นทุน

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตนเองต้องมองว่าในวิกฤตพอจะมีโอกาสอะไรใดบ้าง ในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนระบบการให้ทุน ด้วยความที่ Thailand Science Park เป็นพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานเหล่านี้ก็จะบอกว่ามีทุนที่หน่วยงานต้องใช้เพื่อพัฒนาคน เรื่อง Big data แล้ว Thailand Science Park สนใจรับทุนนี้หรือไม่ ซึ่ง Thailand Science Park ก็รับทุกโครงการ

ในช่วงที่จะก่อตั้ง Cluster Health and Wellness ใน Thailand Science Park ตนเองได้สร้างความร่วมมือกับคณะแพทย์ต่างๆ และเชิญผู้บริหารคณะแพทย์เหล่านั้นเป็นบอร์ด ดังนั้น เมื่อตนเองอยู่ในบอร์ดก็เห็นโอกาสว่า Thailand Science Park  สามารถทำได้ จึงเสนอตัวเพื่อขอรับทุน ฉะนั้น นอกเหนือจากรายได้ที่เกิดจากบริษัทผู้เช่าเพียงอย่างเดียว ก็ต้องออกไปหาช่องทางอื่นที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบคลุมในส่วนที่หายไป

แนวทางการบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะต้องเข้าใจบริบทว่าทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ และมีโอกาสตรงจุดใดที่เปิดอยู่บ้าง จะต้องหาโอกาสตรงนั้นให้เจอ แม้ว่าจะมีลูกค้าเช่าพื้นที่ทยอยย้ายออก แต่ก็มีลูกค้ารายใหม่เข้ามาทดแทน
จนเกือบจะครบจำนวน จากการเข้าไปหารือกับลูกค้ารายใหม่ทำให้ทราบว่าลูกค้ารายใหญ่ที่เข้ามาเป็นลูกค้าที่ต้องการ Open Innovation ถ้าองค์กรของลูกค้ามีทรัพยากรจำกัด ขณะที่ตอนนี้ถ้าจะเร่งให้บริษัทลูกค้ามีนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น จะต้องใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานข้างนอก จุดนี้คือโอกาสของเรา โดยดึงบริษัทลูกค้าให้เข้ามาทำงานกับ Thailand Science Park โดยสามารถใช้บริการในการเชื่อมต่อไปยัง 5 ศูนย์วิจัยของ สวทช.

แนวทางและวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงาน รวมถึงการสร้าง successor

ตลอดเวลาที่ทำงาน เวลาที่จะต้องไปพบเจอใคร จะพยายามพาคนในทีมที่เกี่ยวข้องไปด้วย เหมือนกับ On the Job training ซึ่งจะได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยและฝึกจริงในสนาม แล้วจากนั้นจึงจะปล่อยให้ลูกทีมได้เริ่มโชว์

การสร้าง successor หรือ การปั้นคนนั้น ได้เตรียมการไว้เสมอ จะดูว่าคนที่เราต้องการปั้นนั้นมีเรื่องใดที่เขาเด่นมากและเก่งมาก รวมถึงเรื่องใดที่ยังคงเป็นจุดอ่อนต้องพัฒนา ในฐานะหัวหน้าจะต้องเจียระไนมุมที่เขาสวยที่สุดให้ส่องประกายให้ได้
มากที่สุด
และในมุมที่เขายังด้อยเราจะหาคนเข้ามาเสริม โดยจะคุยกันตรงๆ ให้รู้ว่ายังมีจุดด้อยเรื่องใด เพื่อให้ยอมรับและพัฒนา คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครครบเครื่องทั้งหมด มีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันไป สำคัญที่สุดคือเราต้องให้โอกาส เมื่อถึง
จุดหนึ่งเขาจะต้องโชว์ เราจะยืนอยู่ข้างหลังคอยสนับสนุน ให้เครดิต และให้กำลังใจ

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 ตนเองได้จัดทำกลยุทธ์ Thailand Science Park และ Software Park ไว้หมดแล้ว สำหรับผู้ที่จะเข้ามาบริหารงาน และตนเองก็จะคอยเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือสนับสนุน

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. และการทำงานกับ สวทช.

“ประทับใจในมิตรภาพที่ดีจากทั้งเจ้านายและลูกน้อง เจ้านายตั้งแต่ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ช่วงที่ทำงานระยะแรกเจ้านายตรง คือ ดร.ชัชนารถ เทพธรานนท์ และมี ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา อีกหนึ่งท่านสำคัญที่สุด แม้ไม่ได้ทำงานกับท่านตลอด แต่ท่านเป็นที่ปรึกษาของพี่มาโดยตลอด พี่เลือกท่านเป็น mentor คือ ดร.หริส สูตะบุตร

ได้ทำงานและฝ่าฟันมาด้วยกัน ผู้นำแต่ละท่านจะมีแนวคิดหลากหลายมิ เพราะแต่ละท่านมีความเก่งแตกต่างกัน มุมที่ท่าน walk the talk (ทำตามที่พูด) อยู่ในสายเลือดของท่านแล้ว ท่านแสดงให้เห็นเป็นอะไรที่ประทับใจมาก ทั้งเรื่อง Nation First, Deliverability และ S&T Excellence ซึ่งแต่ละท่านมีวิถีในการปฏิบัติที่เราได้เห็นและเรียนรู้

ขอบคุณในมิตรภาพที่ดีทั้งจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง และขออโหสิกรรมหากได้เคยทำให้ท่านใดไม่สบายใจ และเดือดร้อน ขออโหสิกรรมไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย”

การเตรียมก่อนเกษียณ และการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

เตรียมเข้าสู่ chapter ใหม่ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างเต็มเวลา และทำประโยชน์ตน อยากปฏิบัติภาวนา สะสมบุญ และในขณะเดียวกันเวลาสะสมบุญอาจจะเป็นการช่วยเหลือโดยการใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือเครือข่ายของตนเองช่วยทุกคนที่สามารถช่วยเหลือได้ ทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม

เตรียมตัวด้านการเงิน จะนำเงินไปลงทุนอะไรให้ชีวิตอีก 20 ปีข้างหน้า เตรียมเงินให้พอลงทุนอย่างไรให้เรามีรายได้บ้างเพื่ออยู่ต่อได้ การประกันสุขภาพสำคัญมาก เมื่อเราเกษียณแล้วสวัสดิการต่างๆ จะไม่มีแล้ว

เรื่องครอบครัว มีลูก 4 คน ทุกคนทยอยกันเรียนจบหมดแล้ว และมีหน้าที่การงานกันครบแล้ว ดังนั้นไม่ต้องห่วงอะไรมากแล้ว

ภาพของ สวทช. ในอนาคต ที่คาดหวัง

อยากเห็น สวทช. เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการทำงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เติบโตและเข้มแข็งขึ้นได้ การนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ต้องดูว่าตลาดเป็นอย่างไร แนวโน้มโลกเป็นอย่างไร พฤติกรรมผู้บริโภคแนวโน้มเป็นอย่างไร แล้วมีโอกาสอยู่ตรงไหน ส่วนต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำกลับมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และประเทศได้จริงๆ

อยากเห็นการทำวิจัยและการทำธุรกิจ หรือ Research + Business ก่อน คือจะต้องมองโมเดล ธุรกิจให้ออกก่อนว่างานวิจัยนี้จะออกไปตอบโจทย์ตลาดได้อย่างไร ตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างไร และตลาดใหญ่แค่ไหน และจะสร้างผลกระทบ impact มากแค่ไหน แล้วจึงค่อยไปพัฒนา หรือ Development หากทำอย่างเช่นนี้ได้ งานวิจัยจะไม่อยู่บนหิ้งแน่นอน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีของ สวทช. มีกลไกจำนวนมาก และที่นี่มีจิ๊กซอว์ที่ถูกออกแบบไว้เพื่อที่จะไปช่วยทำให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมมากขึ้น

อนาคตเป็นของพวกเราทุกคน ในการขับเคลื่อน สวทช. ใช้ความเก่ง ใช้ความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ ที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทาง ที่เราฝันไปด้วยกัน