บทสัมภาษณ์นางสาวสรนันท์ ตุลยานนท์ ที่นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี (TPR) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน
ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์นางสาวสรนันท์ ตุลยานนท์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี (TPR) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร
ข้อมูลเบื้องต้น
- นางสาวสรนันท์ ตุลยานนท์
- ตำแหน่ง นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี (TPR) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช.
แนะนำตัวเอง
ช่วงปี พ.ศ. 2532-33 เริ่มทำงานกับเอ็มเทค ซึ่งขณะนั้นยังไม่มี สวทช. ทำงานได้ประมาณ 2 ปีก็สอบชิงทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) เมื่อจบการศึกษาจึงกลับมาทำงานใช้ทุนที่ สวทช. อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม พ.ศ.2538 ในตำแหน่งนักวิจัย เมื่อทำงานในตำแหน่งนักวิจัยได้ระยะหนึ่ง ก็ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งงานข้อมูลเทคโนโลยีวัสดุ โดยรับตำแหน่งหัวหน้างานอยู่หลายปี จนมีการส่งต่องานให้กับน้องๆ ท่านอื่น ปัจจุบันพี่ดำรงตำแหน่งนักวิชาการอาวุโส งานหลัก ๆ จะเป็นเรื่องของเอกสารโดยเฉพาะการแปลเอกสารจากภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ หรือการแปลจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทย ถ้าให้เล่าเรื่องของการทำงานจริงๆ พี่ทำมาหมดแล้วทุกอย่างทั้งงานวิชาการ และงานสนับสนุน เช่น จัดประชุม การเตรียมเอกสารจำนวนมากโดยการโรเนียว เป็นผู้ประสานงานการให้ทุนโครงการวิจัย ฯลฯ เหตุที่ทำมาแล้วทุกอย่างก็เพราะพี่เข้ามาทำงานตั้งแต่เรายังไม่มี พรบ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังไม่มี สวทช. การทำงานในช่วงแรกมีเจ้าหน้าที่ทำงานกันประมาณ 10 คนเท่านั้น เรียกได้ว่าเหนื่อยแต่สนุกกับงาน [หัวเราะ] จากวันนั้นถึงวันนี้ทำงานกับสวทช.มาแล้วกว่า 28 ปี
ทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงาน
ทักษะและความสามารถในการทำงานที่จำเป็นพี่แบ่งออกเป็น 3 ช่วงของการทำงาน
ช่วงแรก ด้วยความเป็นนักเรียนทุนจึงกลับมาเป็นนักวิจัยโดยนำความรู้ด้านพอลิเมอร์มาใช้ ในช่วงแรกของการทำงานนี้เรายังไม่มีห้องปฏิบัติการเพราะอาคารวิจัยโยธีกำลังก่อสร้างอยู่ใกล้จะเสร็จ ช่วงนี้ได้ใช้ความรู้ทางวิชาการมาเขียนเอกสารเพื่อใช้กับห้องปฏิบัติการ อาทิ ระบบการจัดการสารเคมีซึ่งในปัจจุบันระบบได้พัฒนาไปมาก มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการเขียนคู่มือเรื่องของการระงับอัคคีภัย การปฐมพยาบาล ซึ่งเอกสารเหล่านี้ ก็ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากร่างแรกที่พวกเราทำกันในสมัยนั้น นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สอนวิชา Color Science ที่ภาควิชาวัสดุศาสตร์ จุฬาฯ และภาควิชาสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ช่วงที่สอง ทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลวิชาการ เริ่มจัดตั้งห้องสมุดของเอ็มเทค ด้วยความที่ตนเองเป็นคนรักการอ่าน ชอบเข้าห้องสมุด และมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่กับหนังสือ สิ่งนี้คือสิ่งที่พี่รัก เมื่อเรารักชอบสิ่งใดเราก็ต้องการที่จะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด นอกจากเริ่มก่อตั้งห้องสมุดแล้วยังวางระบบห้องสมุดเพื่อให้การหาหนังสือในห้องสมุดนั้นไม่ยุ่งยาก เพราะเราไม่มีบรรณารักษ์ เราจึงหาวิธีในการตั้งระบบของเราขึ้นมาเองและแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ จนได้ระบบของเราที่มีการให้เลขหนังสือและตั้งรหัสที่ทำให้เราทราบรายละเอียดที่จำเป็นของหนังสือนั้น และตรวจสอบได้ว่าหนังสืออยู่ที่ใด ทักษะสิ่งที่จำเป็นคือ “ความชอบ”
ช่วงท้าย ทำงานด้านวิชาการ เป็นนักวิชาการอาวุโส ทักษะสำคัญในการทำงานด้านวิชาการคือ การเขียนเอกสาร การตรวจเอกสาร และมีความรู้เชิงลึกทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าใจเนื้อหาที่อ่านจากต้นฉบับ และถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาษาที่สละสลวย เข้าใจง่าย ทักษะด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยสำคัญมากจะต้องเข้มแข็งทั้งคู่ พี่เป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่หนังสือในห้องสมุดทุกเล่มพี่อ่านหมดเลย ร้านหนังสือถ้าได้เข้าก็จะอ่านจนหมดเกือบทุกร้านที่ได้มีโอกาสเข้า [หัวเราะ] เพราะอ่านมาเยอะในหัวจึงมีคำศัพท์เยอะช่วยในการเขียนการเรียบเรียงเนื้อหาได้มาก [ยิ้ม]
ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว
ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานที่ สวทช. พี่ภูมิใจในงานที่ได้รับมอบหมายทุกงาน อย่างที่เล่าให้ฟังในช่วงคำถามต้น ๆ พี่จะแบ่งการทำงานออกเป็นช่วง ๆ ดังนั้นผลงานที่มีความภาคภูมิใจพี่ก็จะขอเล่าเป็นช่วง ๆ เช่นกัน
ช่วงแรก เริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2532 ขณะนั้นยังไม่มี สวทช. เมื่อเข้ามาเป็นช่วงเวลาที่ รศ.ดร.หริส สูตะบุตร ของบประมาณจากทางรัฐบาลสำหรับการส่งนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์รุ่นแรกจำนวน 789 คนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับ สวทช. และสถาบันการศึกษาของประเทศในอนาคต การทำงานในช่วงนั้น ซึ่งคือการเตรียมประกาศรับสมัครทุนโดยมีรายละเอียดของทุกทุน ว่าจะให้ทุนอะไรไปเรียนที่ประเทศใดและกลับมาใช้ทุนที่หน่วยงานไหน (ซึ่งผู้บริหารของศูนย์แห่งชาติสามศูนย์ในขณะนั้น ได้ข้อสรุปออกมาให้แล้ว) ถือเป็นงานใหม่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ (ชื่อกระทรวงในสมัยนั้น) ไม่เคยทำมาก่อน และบุคลากรที่รับผิดชอบในการจัดทำประกาศทุนฯ นี้เป็นนักวิทยาศาสตร์จบใหม่แค่สามสี่คน การทำงานจึงเป็นการทำไปและเรียนรู้ไป และที่สำคัญคือถึงงานนี้เป็นงานใหม่แต่พวกพี่ก็ต้องทำงานด้วยความละเอียดรอบคอบเนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในประกาศจะต้องไม่มีข้อผิดพลาด การทำงานพวกพี่ทุ่มเทกันมาก มาทำงานกันตอน 7:00 น. และออกจากสำนักงานตอน 23:00 น. ทำงานกัน 7 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้หยุดเลย เพราะงานที่ทำนี้เป็นงานที่ใหญ่และสำคัญมาก และจำนวนคนทำงานมีไม่มากนัก จากการทำงานตรงนี้สรุปได้ว่า “งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำนั้นถึงไม่เคยทำมาก่อน แต่เมื่อได้รับมอบหมายมาแล้วก็ต้องลงมือทำพร้อมกับเรียนรู้จากงานที่ทำไปด้วย” ทักษะจำเป็นคือ “ต้องอดทน และเสียสละ” [หัวเราะ] ความภาคภูมิใจจากสิ่งที่ได้ทุ่มเททำไปคือเราสามารถจัดทำประกาศทุน กพ. ได้สำเร็จ ผลที่ได้รับต่อเนื่องจากเรื่องนี้คือ บุคลากรของประเทศที่ได้รับทุนไปเรียนต่อในช่วง พ.ศ. 2533-2535 ล้วนมาจากประกาศทุนฉบับนี้ที่เราทำ บุคลากรของสวทช. ก็เช่น ดร.อารี ธนบุญสมบัติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานแห่งชาติ (ศล.) และนักวิจัยอาวุโสของทุกศูนย์แห่งชาติที่เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรก [ยิ้ม]
ช่วงที่สอง ระหว่างที่ รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) เป็นช่วงที่ต้องทำแผนกลยุทธ์ด้านโลหะและวัสดุ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานวิจัย ขณะนั้นพี่ยังดูแลงานข้อมูล ฯ อยู่ ท่านอาจารย์ปริทรรศน์ฯ ได้มอบหมายให้เขียนแผนกลยุทธ์โลหะและวัสดุเพื่อใช้ในการทำงานสำหรับช่วงปี พ.ศ. 2545 – 2549 ของ ศว. หรือเรียกว่าแผนแม่บท 5 ปี แผนนี้จะนำไปประกอบในการของบประมาณของ ศว. ผู้บริหารมองเห็นว่าพี่สามารถที่จะเขียนแผนนี้ได้ด้วยพื้นฐานความรู้เดิมด้านวิจัยวิชาการ และทำงานทางสายสนับสนุนด้วย ทำให้เข้าใจความต้องการของทั้งสองด้าน รวมถึงมีทักษะในการเขียนการใช้ภาษา เมื่อเขียนแผนกลยุทธ์แล้วเสร็จได้นำเสนอต่อท่านอาจารย์ปริทัศน์ฯ และได้รับคำชมกลับมา ตลอดจนภายหลังเมื่อมีการนำแผนกลยุทธ์ ฯ นี้ ไปประกอบของบประมาณในสภาฯ คณะกรรมาธิการ ฯ เอ่ยชมว่า “เป็นแผนกลยุทธ์ที่อ่านรู้เรื่อง รู้ว่าศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาตินี้จะทำอะไร และประเทศชาติจะได้อะไรกลับมาในอีก 4-5 ปีข้างหน้า” นี่คือความภูมิใจอีกเรื่องหนึ่ง “ทักษะสำคัญคือ รู้จักหน่วยงานของตัวเอง มองเห็นแนวทางที่เราควรเลือกทำ และมีขีดความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ และเกิดประโยชน์ แล้วเขียนออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน” นอกจากนี้แล้วการเขียนแผนกลยุทธ์ของศูนย์ ฯ ก็ต้องเขียนให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของชาติด้วย
พจนานุกรมศัพท์วัสดุศาสตร์ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ เปรยว่าด้านโลหะและวัสดุ หรือด้านวัสดุศาสตร์ยังไม่มีพจนานุกรมศัพท์ภาษาไทย ในมุมของนักวิจัย นักวิชาการ มักทับคำศัพท์ด้านวัสดุศาสตร์ไปเลย หรือบางคำทางราชบัณฑิต ฯ ก็มีการบัญญัติศัพท์ไว้บ้าง แต่พวกเราก็อาจจะไม่ได้ทราบและใช้กันอย่างทั่วถึง จากจุดนี้ ดร.บัญชาฯ จึงชักชวนให้ช่วยกันทำพจนานุกรมศัพท์วัสดุศาสตร์ขึ้นมาหนึ่งเล่ม พจนานุกรม ฯ ฉบับนี้ สำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของนักวิจัยของเอ็มเทคขณะนั้น มาช่วยกันทำ ส่วนที่ยากที่สุดในการทำพจนานุกรมคือต้องตรวจสอบให้มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด เพราะเมื่อสำเร็จแล้วก็จะเป็นพจนานุกรม ฯ ที่น่าเชื่อถือ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้งานและอ้างอิงได้ [ยิ้ม] ทักษะสำคัญในการทำงานนี้คือ “ความละเอียดรอบคอบ และทักษะทางด้านภาษา” ความภาคภูมิใจในเรื่องนี้คือ ดร.บัญชา ฯ ได้ทูลถวายพจนานุกรมศัพท์วัสดุศาสตร์ ต่อ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี [ยิ้ม]
ความท้าทายที่ได้พบระหว่างการทำงาน และวิธีรับมือหรือการแก้ไขปัญหา
พี่ทำงานมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกยังไม่มีอะไรเลย [ยิ้ม] เป็นเหมือนกลุ่มคนผู้สร้าง ข้อจำกัดคือบุคลากรน้อย เพราะเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ แต่ในยุคนั้นไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณเพราะมีการเตรียมการไว้แล้ว ความท้าทายคือ “คนน้อยแต่งานและภาระงานมาก” อีกสิ่งคือ แทบทุกงานที่ทำคือ “ไม่เคยมีมาก่อน” เพราะเป็นยุคของการจัดเตรียม ต้องสร้างสรรค์กันเอง เช่น อาคารโยธี การออกแบบตึกที่มีการทำงานร่วมกับสถาปนิก เพราะสถาปนิกเองก็ไม่เคยออกแบบตึกวิจัย ยกตัวอย่างเช่น ห้องเก็บสารเคมีที่ชั้นใต้ดิน ผนังห้องด้านริมอาคารจะเป็นผนังที่แข็งแรงน้อยกว่าผนังส่วนด้านในอาคาร เพราะหากเกิดเหตุระเบิดจะได้ระเบิดออกไปทางด้านนอก หรือพื้นอาคารในส่วนของห้องปฏิบัติการ สามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 1 ตัน เพื่อที่จะรองรับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งใหม่ทั้งหมด จึงมีความสนุกสนานท้าทาย บุคลากรมีน้อย ความเป็นทีมจึงเข้มแข็งมาก ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จได้แม้ว่าจะสำเร็จแบบลำบาก คือทุกคนสนุกไปด้วยกัน และมุ่งเป้าหมายเดียวกัน [ยิ้ม] เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ หรืองานที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน การรับมือของพี่คือทุ่มเท ทำทุกงานด้วยความตั้งใจ และสนุกไปกับงาน อะไรที่ไม่รู้ก็หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้งานสำเร็จออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ [ยิ้ม]
วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดองค์ความรู้
“ลงมือทำจริง” พี่จะให้น้อง ๆ ในทีมลงมือทำงานจริง ยกตัวอย่างเช่น การทำงานด้านการแปลเอกสารวิชาการ งานด้านการเขียนจะต้องลงมือทำจริงๆ แต่ละคนจะได้เรียนรู้ไปในระหว่างที่ได้ลงมือทำ ทุกคนจะได้รับมอบหมายงานให้แปล และพี่จะคอยแนะนำหากพบจุดที่ยังไม่ถูกต้อง การทำแบบนี้การทำงานจะผิดน้อยลงเรื่อย ๆ ทักษะการแปลก็จะพัฒนาทั้งการใช้ภาษาไทย และการแปลภาษาอังกฤษ หลายคนในทีมสามารถพัฒนาการเขียนจนสามารถทำเป็นสิ่งพิมพ์ของสำนักงานได้หลายเล่ม บางคนสามารถส่งบทความออกไปตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ข้างนอกได้ เช่น สำนักพิมพ์สารคดี ทุกคนได้ทำจริงและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าบทความที่เขียนขึ้นนั้นมีคุณภาพสูงจากการที่มีสำนักพิมพ์ติดต่อขอไปพิมพ์ หรือมีคนติดต่อขอนำบทความไปเผยแพร่ต่อในช่องทางต่างๆ
ความประทับใจที่มีต่อ สวทช.
สถานที่และเพื่อนร่วมงานดี แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือ สวทช. เป็นที่ที่ให้โอกาส ทุกสิ่งที่มีก็ได้มาจาก สวทช. ทั้งโอกาสทางด้านการศึกษา ค่าตอบแทนจากการทำงาน สวทช. เป็นเสมือนบ้านหลังหนึ่งของพี่ พี่ทำงานตั้งแต่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเองจนทุกวันนี้มีบ้านหนึ่งหลัง เริ่มทำงานตั้งแต่มีบุคลากรเพียง 10 คน จนปัจจุบันองค์กรเติบโตขึ้นมากมีบุคลากรหลักพัน ได้เห็นการเติบโตขององค์กรมาโดยตลอดก็มีความประทับใจ ความฝันเมื่อ 35 ปีก่อน ปรากฏเป็นรูปร่างให้จับต้องได้จริง
ภาพในอนาคตที่อยากเห็นของ สวทช.
สวทช. มีบุคลากรที่มีคุณภาพสูงมาก ขณะนี้เรากำลังพบกับความท้าทายหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ แต่คิดว่าไม่น่าจะเกินความสามารถของบุคลากรของเราที่จะหางบวิจัยจากภายนอก โดยมีผู้บริหารช่วยให้การสนับสนุน
ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าเรามีบุคลากรเยอะ มีบุคลากรที่เก่ง แต่เหมือนเราไม่ค่อยเป็นทีมสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก เหมือนเรากำลังสูญเสียแรงผลักดันบางอย่างที่เคยมีในสมัยก่อนที่เราทำงานกันแบบเกื้อกูลกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แม้ว่าทรัพยากรไม่มากเท่าปัจจุบัน กลับกันในปัจจุบันทรัพยากรมีมากขึ้น แต่บุคลากรแทบไม่รู้จักกัน อยากให้ สวทช. หาช่องทางให้บุคลากรรู้จักสนิทกันแบบข้ามศูนย์ เพราะเมื่อเรามีเครือข่ายส่วนตัว เราก็อยากจะช่วยเพื่อนด้วย ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นแค่การทำงานภายในศูนย์ฯ ของตัวเอง ถ้าบุคลากรมีความสนิทสนมกันมากขึ้นรู้จักกันมากขึ้น การทำงานน่าจะไปได้เร็ว อยากฝากในเรื่องนี้คือเรื่องของการบริหารคน อยากให้มีการบริหารให้เป็นแบบช่วยกันทำงาน ผลักดันให้บุคลากรได้รู้จักและทำงานกันแบบข้ามศูนย์ สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและมี impact สูง ผลงานเราอาจจะไม่ต้องทำมากชิ้น ทำน้อยแต่ได้มาก กล่าวคือ ผลิตผลงานออกมาแล้วคนรู้จักว่านี่คือ “ผลงานของ สวทช.”
เตรียมตัวหลังเกษียณ และวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ก่อนเกษียณจะวางแผนเรื่องการส่งมอบงาน และช่วงนี้คือช่วงกำจัดเอกสารต่าง ๆ [หัวเราะ] แต่ระหว่างที่เคลียร์ห้องเคลียร์เอกสาร ก็ได้เห็นเอกสารเก่า ๆ ที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์การทำงานของเรา มีลายมือของผู้บริหารรุ่นแรกๆ เราก็ได้หวนคิดถึงเรื่องเก่า ๆ ไปด้วยก็มีความสุข และก็คิดว่า ถึงเวลา “วางมือและปล่อยวาง พร้อมไปเริ่มบทใหม่ของชีวิต” [ยิ้ม]
เตรียมตัวด้านการออม พี่เป็นสมาชิกสหกรณ์ แบ่งการออมเพื่อซื้อกองทุนต่าง ๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออมเท่าที่ออมได้ รุ่นน้องพี่อยากจะบอกว่าเริ่มออมกันไว้เยอะ ๆ [ยิ้ม]
หลังเกษียณ โปรแกรมเยอะเลย [ยิ้ม] ด้วยพี่มีปัญหาสุขภาพเรื่องหมอนรองกระดูก พอเกษียณก็จะได้มีเวลามากขึ้นเพื่อดูแลตัวเองดูแลสุขภาพ ได้มีโอกาสชื่นชมกับธรรมชาติ และได้ทำในสิ่งที่ต้องการ ไปเที่ยวบ้าง เราต้องแข็งแรง เราไม่ได้ออมเงินไว้มาก ถ้าเราทำให้สุขภาพเราแข็งแรงได้ เราจะประหยัดเงินได้เยอะ อยากมีชีวิตยืนยาวแบบเดินได้ไม่ใช่นอนบนเตียง เราต้องออกกำลังก่อนที่จะต้องทำกายภาพ [ยิ้ม] และวันอังคารก็มีแผนจะแวะมาเดินตลาดนัดที่ สวทช. เพื่อพบปะเพื่อนฝูง เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าชีวิตหลังเกษียณมีความสุขแค่ไหน [หัวเราะ]