บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นางสาววลี สุขรัตนวงศ์

บทสัมภาษณ์นางสาววลี สุขรัตนวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส งานพันธมิตรร่วมวิจัย (SNW) ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตรร่วมวิจัย (ICN) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.)  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์นางสาววลี สุขรัตนวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส งานพันธมิตรร่วมวิจัย (SNW) ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตรร่วมวิจัย (ICN) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.)  สวทช.
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร

ข้อมูลเบื้องต้น

  • นางสาววลี สุขรัตนวงศ์
  • ตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโส
    งานพันธมิตรร่วมวิจัย (SNW) ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตรร่วมวิจัย (ICN) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) สวทช.

แนะนำตัวเอง

เริ่มงานวันแรกที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 มาจนถึงวันนี้ 23 ปี ทำงานในส่วนงานวิเทศสัมพันธ์ย้อนกลับไปนานจำไม่ได้ว่ากี่ปี [หัวเราะ] และจากทำงานวิเทศสัมพันธ์ได้สักระยะย้ายไปทำที่ งานพันธมิตรร่วมวิจัย ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตรร่วมวิจัย ดูแลโครงการทุนการพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาตรี – ปริญญาเอก เช่น ทุน TGIS ทุน YSTP โครงการ TAIST โครงการทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก
ในปัจจุบันนี้ดูแลอยู่เพียงโครงการเดียวคือ “ทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอก” เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ [ยิ้ม]

ทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงาน

ทักษะสำคัญที่จะต้องมีเป็นพื้นฐานเลยคือ “ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ” เพราะงานวิเทศสัมพันธ์ หรืองานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชื่อบอกอยู่แล้วว่าต่างประเทศ ดังนั้นการสื่อสารการใช้ภาษาอังกฤษจะต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะเราจะต้องประสานงานในเรื่องของทุนทั้งแหล่งทุนภายในประเทศและแหล่งทุนจากต่างประเทศ

ตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ และปัจจัยความสำเร็จในผลงานดังกล่าว

ภูมิใจกับงานทุกชิ้นที่ได้รับมอบหมายแล้วเราสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ งานหลักของพี่เป็นเรื่องของการดูแลเรื่องทุนเน้นทางด้านการประสานงานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับนักวิจัยของ สวทช. หรือการประสานกับนักศึกษา อาจารย์ หากเราสามารถประสานให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงข้อจำกัดของทุน เงื่อนไข คุณสมบัติของการรับทุน แล้วพวกเค้าเหล่านั้นได้รับทุนและสำเร็จการศึกษาตามที่ได้รับทุนเราก็ภูมิใจ [ยิ้ม] ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือเราจะต้องมีความพยายาม หากระหว่างการทำงานแล้วพบปัญหาเราจะต้องหาทางออกให้ได้ไม่ลดละ [ยิ้ม]

วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดองค์ความรู้

“ทำงานไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ในฝ่ายของพี่มีการจัดเก็บองค์ความรู้ในการทำงานไว้ในระบบดิจิทัลของหน่วยงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช.

ประทับใจในความคล่องตัวในการทำงาน และองค์การเป็นองค์กรที่ทันสมัยมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมสรรพให้กับบุคลากร สถานที่ทำงานก็ร่มรื่นน่าอยู่ทำให้อยากมาทำงาน มีเพื่อนร่วมงานที่ดี [ยิ้ม]

ภาพในอนาคตที่อยากเห็นของ สวทช.

สวทช. เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พี่อยากให้ สวทช. รักษามาตรฐานที่ดีแบบนี้เอาไว้หรือทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านการทำงานของบุคลากรยังอยากเห็นภาพการทำงานร่วมกัน การทำงานกันแบบพี่น้องที่มีความจริงใจต่อกัน ผู้บริหารเองก็มีธรรมาภิบาลที่ดี การทำงานควรจะมีความชัดเจนมีการสื่อสารกันให้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง ด้านผลงานอยากให้ สวทช. ผลิตผลงานออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับสู่สาธารณชนได้รู้จักว่า สวทช. คือองค์กรอะไร มีผลงานอะไรที่ตอบโจทย์ประเทศได้บ้าง

เตรียมตัวหลังเกษียณ และวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

เตรียมความด้านการเงินโดยเก็บออมมาเรื่อย ๆ แต่พอถึงวันที่จะเกษียณอายุงานก็ตกใจอยู่เหมือนกันว่าเงินที่ออมไว้จะพอนำมาใช้หรือไม่ [หัวเราะ] หลังเกษียณมีเวลามากขึ้นได้พักผ่อนวางแผนไว้ว่าจะเคลียร์เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวหรือเรื่องอื่น ๆ ให้เรียบร้อยแล้วจะพักผ่อนโดยการออกท่องเที่ยว หรืออาจจะทำธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ [ยิ้ม]