6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา กรุงเทพฯ ดร.ดวงเดือน อาจองค์ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเซรามิกคะตะลิสต์และคาร์บอน กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัล Gold medal จาก Malaysian Invention and Design Society (MINDS) และ Gold Prize จากการประกวดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition 2024 (IPITEx 2024) ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024)” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้มอบรางวัล จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ “Carbon-CATCH” (Porous Carbon from Wastes for CO2 Absorption to reduce Climate Change) หรือ “คาร์บอนแคช” (คาร์บอนจับคาร์บอน: คาร์บอนพรุนตัวจากของเหลือทิ้งสำหรับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ (International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition : IPITEx 2024) นี้ มีนักประดิษฐ์จากนานาประเทศมากกว่า 1000 คน เข้าร่วมงาน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมแข่งขันกว่า 600 ผลงาน จาก 25 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรระดับนานาชาติจำนวน 30 องค์กร และ 38 องค์กรจากประเทศไทย โดยงานนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไก และแรงบันดาลใจ รวมถึงช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือแก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ นักวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากนักประดิษฐ์ที่มีเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น Medicine and public health, Health product, Modern agriculture, Protection of the environment, Building, Educational, Robotics, IoT, Mechanics เป็นต้น โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาประเทศ ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องแสดงศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้ก้าวสู่โลกยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผลงานการประดิษฐ์ Carbon-CATCH เป็นการประดิษฐ์คาร์บอนพรุนตัวจากของเหลือทิ้งสำหรับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผลงานนวัตกรรมการประดิษฐ์คิดค้นโดย ดร. ดวงเดือน อาจองค์ และทีมวิจัยเซรามิกคะตะลิสต์และคาร์บอน กลุ่มวิจัยเซรามิกส์และวัสดุก่อสร้าง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จากแนวคิดการบูรณาการเทคโนโลยี Carbon capture ร่วมกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัสดุคาร์บอน และการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาให้เป็นคาร์บอนพรุนตัวสำหรับการดักจับ CO2 และเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับด้วยสารกลุ่มเอมีน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “วัสดุพรุนคาร์บอนขั้นสูงจากของเหลือทิ้งชีวมวลและขยะอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบผลิตไฟฟ้า” รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยวัสดุ Carbon-CATCH นี้ เตรียมจากกากมันสำปะหลังและเศษยางรถยนต์เก่าเหลือทิ้ง มีพื้นที่ผิว 1000-1165 ตารางเมตรต่อกรัม มีประสิทธิภาพการดักจับ CO2 ได้ 180-200 มิลลิกรัมต่อกรัม และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 20 ครั้ง โดย CO2 ที่ผ่านการดักจับแล้วยังนำไปใช้การกระบวนการผลิต green cement สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ผลการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment; LCA) บ่งชี้ว่าวัสดุ Carbon-CATCH ที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยนี้ เมื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 50
ผลงาน Carbon-CATCH นี้ เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหรือชีวมวลที่มีการปลดปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิต รวมทั้งผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบของเหลือทิ้ง และผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดงานวิจัยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทีมวิจัยมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน องค์กรและสถาบันการศึกษาที่มีความสนใจ ผลงานวิจัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมาย SDG goals และ BCG model ของประเทศไทย