สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) มีความร่วมมือกับจังหวัดอุดรธานี ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมการทำเกษตรในพื้นที่ ซึ่ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ” ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี เป็นหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่ สท. ได้ร่วมดำเนินงานด้วย ภายใต้โครงการ “การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเครือข่ายผู้ผลิตปทุมมาบ้านห้วยสำราญ” โดยมุ่งหวังให้เป็นจุดสาธิตการเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตปทุมมาและส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความรู้ด้าน วทน.
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ” เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี มีสมาชิก 104 ราย ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ เช่น มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุด คัตเตอร์ กุหลาบร้อยมาลัย เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับของกลุ่มวิสาหกิจฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในช่วงฤดูไม้ดอกผลิบาน เว้นแต่ในช่วงฤดูฝนที่ยังขาดพันธุ์ไม้ดอกที่หลากหลาย
จากนโยบายของจังหวัดอุดรธานีที่ต้องการพัฒนาพื้นที่บ้านห้วยสำราญให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดรับผู้คนได้ตลอดทั้งปี จึงได้ร่วมกับ สท. นำร่องจัดอบรมถ่ายทอดความรู้การผลิตปทุมมาให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ซึ่งปทุมมาเป็นไม้ดอกที่ผลิบานในช่วงฤดูฝนและยังเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การอบรมดังกล่าวฯ มีนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเป็นวิทยากร ทำให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รู้จักไม้ดอกชนิดนี้มากขึ้นทั้งสายพันธุ์ วิธีการปลูก การเก็บหัวพันธุ์จำหน่าย ตลอดจนการนำปทุมมาไปประดับตกแต่งในรูปแบบต่างๆ ความรู้จากการอบรมไม่เพียงเพิ่มชนิดไม้ดอกที่จะสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ หากยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดอีกด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยจากไบโอเทคและห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัคกี้ซีดส์ อโกร ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาหลายสายพันธุ์ภายใต้ “โครงการพัฒนาไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่” ซึ่งหนึ่งในสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทีมวิจัยได้มอบให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ โดยตั้งชื่อสายพันธุ์ปทุมมานี้ว่า “พันธุ์ห้วยสำราญ”
“ปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ” มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกหนา ก้านช่อดอกแข็งแรง ช่อดอกอยู่เหนือทรงพุ่ม แตกหน่อ 3–4 หน่อต่อหัวพันธุ์ เหมาะสำหรับเป็นไม้ตัดดอกและไม้ประดับแปลง
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา สท. และทีมวิจัยได้ส่งมอบหัวพันธุ์ “ปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ” ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ เพื่อปลูกขยายเป็นจุดสาธิตการเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตปทุมมาและส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความรู้ในพื้นที่ โดยมีนายบุญแถม ยอดแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้รับมอบ และนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมปลูกปทุมมาในพื้นที่ 1 ไร่
ทั้งนี้ สท. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และจังหวัดอุดรธานี ยังมีแผนจัดกิจกรรม filed day ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 นี้ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รู้จักปทุมมามากยิ่งขึ้น พร้อมชมความงดงามของปทุมมา 14 สายพันธุ์ ได้แก่ ห้วยสำราญ เชียงใหม่พิ้งค์ ยูคิ ลานนาสโนว์ สโนวไวท์ ทับทิมสยาม ลัดดาวัลย์ ทวิตเตอร์ มรกต ชมพูมะลิ ซากุระ แดงดอยตุง แอนนา และหงส์เหิน
“ปทุมมา” เป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยรองจากกล้วยไม้ ด้วยสีสันสวยงามและคงทน ทำให้ได้รับความนิยมจากต่างชาติ และเรียกกันในชื่อ สยามทิวลิป (Siam Tulip) ประเทศไทยส่งออกปทุมมาทั้งหัวพันธุ์และตัดดอก โดยมีมูลค่าส่งออก 30-40 ล้านบาท/ปี ซึ่งไทยพื้นที่ผลิตปทุมมาประมาณ 400 ไร่ แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน เลย ชัยภูมิ และกาญจนบุรี
สำหรับคนไทยเองอาจคุ้นเคยกับชื่อ “กระเจียว” ซึ่งทั้งปทุมมาและกระเจียวเป็นพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลขมิ้น มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เจริญเติบโตและให้ดอกได้ดีในช่วงหน้าฝน แต่มีความต่างที่กลีบประดับของกระเจียวมีลักษณะเป็นปล้องและทรงกระบอก ส่วนปทุมมากลีบประดับจะสั้นกว่า การปลูกปทุมมาและกระเจียวจะปลูกในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม) เริ่มออกดอกหลังปลูกประมาณ 40–50 วัน (กรกฎาคม–สิงหาคม) และเก็บหัวพันธุ์หรือตุ้มรากในช่วงฤดูหนาว (ธันวาคม) สำหรับปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ
ราก/หัว ระบบรากฝอยและมีรากสะสมอาหาร สะสมอาหารบริเวณปลายราก ทำให้ปลายบวมออกเป็นตุ้ม
ต้น ลำต้นใต้ดินหรือหัวมีลักษณะเป็นเหง้า (rhizome) ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในเหง้าสีขาว ลำต้นส่วนเหนือดินเป็นลำต้นเทียม เกิดจากการอัดตัวแน่นของกาบใบ มีความสูงจากระดับโคนต้นถึงปลายพุ่มประมาณ 40-45 เซนติเมตร
ใบ ใบเดี่ยว รูปใบหอก ผิวใบเรียบมีสีเขียว
ดอก/ช่อดอก ช่อดอกเกิดที่ปลายยอดแทงขึ้นจากส่วนกลางของลำต้นเทียม ชูขึ้นเหนือพุ่มใบ ประกอบด้วยใบประดับ (bract) เวียนซ้อนโดยรอบและแยกชั้นกันอย่างชัดเจน ใบประดับส่วนบนมีสีชมพู และปลายกลีบประดับมีแต้มสีแดงปนน้ำตาล ใบประดับส่วนล่างมีสีเขียว ที่ปลายกลีบประดับมีริ้วสีแดงปนน้ำตาล ดอกจริงเกิดในซอกใบประดับส่วนล่าง สีขาว กลีบดอก 3 กลีบ มี 1 กลีบเปลี่ยนรูปเป็นกลีบปากสีม่วงเข้ม
ที่มาข้อมูล : https://www.nstda.or.th/agritec/siam-tulip