ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. แสดงวิสัยทัศน์ บทบาทของเนคเทค สวทช. กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในงานสัมมนา “คิดยกกำลัง2 ทิศทางอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะไทย” เจาะลึกแผนยุกธศาสตร์ชาติอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ปี 2566-2570 ท่านได้ประโยชน์อย่างไร? (ไม่เปลี่ยนวันนี้ ลำบากวันหน้า) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.30 น.จัดโดย กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน รวมถึงมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2570
ภายใต้แผนปฏิบัติการประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (2) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และรถ EV และ (3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ยังได้นำเสนอแนวโน้มตลาดและแผน S-Curve บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่อยู่ภายใต้แผนฯ โดยวิทยากรได้แก่ ผอ.ณรัฐ รูจิรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาธัยธรรมศาสดร์ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุดสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.อนิวรรตน์ ตันเดชานุรัตน์ หัวหน้าคณะทำงาน Smart Electronics บริษัท ปดท. จำกัด (มหาชน) และ คณะทำงาน S Curve ส.อ.ท. คุณพฤฒิ เมาลานนท์ รองประธานกลุ่มอุดสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับบทบาทของเนคเทค สวทช. ต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดังกล่าว ดร.พนิตา เล่าว่า เนคเทค สวทช. แบ่งกลุ่มการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีระดับประเทศ เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Sensor, System&Network และ AI&Big Data หลายคนมองว่าเนคเทค สวทช. มุ่งเน้นด้านงานวิจัยและพัฒนา แล้วภาคเอกชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ดังนั้น เนคเทคจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์และสุขภาพ เมืองอัจฉริยะ การศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการนี้ที่จะมีการสนับสนุนอุปสงค์ภาคเอกชนกลุ่มต่าง ๆ ให้มีการใช้งานอุปกรณ์ Smart Electronic
นอกจากนี้เนคเทค สวทช. ยังรับผิดชอบดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ที่รวมกลุ่มนักวิจัยไทยที่เชี่ยวชาญกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) กว่า 40 คน โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยในอุตสาหกรรมการผลิตเซ็นเซอร์ในเชิงพาณิชย์ (Mass production)
ThaiSC ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง มุ่งเน้นการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) แก่งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการคำนวณ (Computational Science) เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ
รวมถึงศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) มีภารกิจหลักในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน
นอกจากนี้เนคเทค สวทช. ยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการเพื่อตอบโจทย์มาตรการตามแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยเฉพาะ ได้แก่
มาตรการที่ 1:ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และ ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำโครงการการพัฒนาและผลิตเซนเซอร์มูลค่าสูง และ Advance IC/Sensor packaging: MEMs และ Advance sensor อื่น ๆ
การยกระดับและพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการพัฒนาบุคลากร Test Engineer ที่มีความสามารถในการทดสอบ Smart Electronics
มาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
โครงการพัฒนา IoT Platform เพื่อบูรณาการการออกแบบ การผลิต และการบริการในอุตสาหกรรม Smart Electronics เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Eco-system เช่น แพลตฟอร์มโรงงานอัจฉริยะ (Smart Industry) ได้แก่
IDA Platform แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปรับตัวของ SME ในภาคการผลิต รวมทั้งสอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน
UNAI Smart Warehouse แพลตฟอร์มที่สามารถให้บริการข้อมูลตำแหน่งหรือข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนที่ของคนหรือสิ่งของภายในอาคารแบบเวลาจริง (real-time) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าดูข้อมูลตำแหน่งผ่านระบบออนไลน์ โดยระบบประกอบไปด้วยอุปกรณ์รับสัญญาณไร้สายที่เรียกว่า Anchor และอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายที่เรียกว่า Tag ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขนาดเล็กและมีระบบสื่อสารไร้สายมาตรฐานบลูทูธพลังงานต่ำ และมาตรฐานไวไฟ (Wi-Fi)
การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการออกแบบและวิเคราะห์ทดสอบวงจรรวมและเซนเซอร์ :ให้บริการและเป็นที่ปรึกษาการออกแบบและวิเคราะห์ทดสอบ IC, Sensor เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรูู้ระหว่าง สถาบันการศึกษา เอกชน ภาครัฐ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นตัวกลางในการระดมสมองจัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อน Ecosystem ต่อไป
การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ Smart Electronic ผ่านห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ SQUAT ปฏิบัติภายใต้งานวิศวกรรมซอฟต์แวร์และทดสอบผลิตภัณฑ์ (SEPT) ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี (TSS) เนคเทค สวทช. ถือเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ แห่งแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตาม มาตรฐาน มอก.17025 (ISO/IEC 17025) (ใบรับรองที่ : 19T016/0793)