ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์จับมือเอกชน สร้างไมโครชิปฝังอุปกรณ์วัดความดันหลอดเลือดหัวใจได้สำเร็จ เผยมีความแม่นยำรักษาได้ตรงจุด คาดทดลองใช้จริงกลางปี 49 แย้มอนาคตจะพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดให้เป็นระบบไร้สาย พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็นไมโครโฟนดิจิตอล ช่วยขยายเสียงให้ผู้พิการทางหู และตัดเสียงรบกวนที่ไม่ต้องการ
ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ทีเมค (TMEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการสร้างไมโครชิปจากระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (MEMS)
ทั้งนี้ TMEC ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท ราดิเมดิคอล ซิสเต็ม จำกัด (RADI) ในการผลิตอุปกรณ์วัดความดันในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์สายวัดความดันหัวใจ(Pressure Wire) เพื่อช่วยในการตรวจวัดความดันหลอดเลือดได้อย่างแม่นยำและสามารถรักษาได้อย่างตรงจุด โดยการฝังชิปที่มีขนาดกว้าง 140 ไมครอน ยาว 1,300 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม ด้วยชิพที่มีขนาดเล็กมากนั้น จะทำให้การตรวจวัดความดันมีความแม่นยำยิ่งขึ้น
นายประวิช ได้อธิบายถึงวิธีตรวจว่า จะทำการสอดสายวัดตรงเส้นเลือดใหญ่บริเวณขาหนีบ ขึ้นไปสู่หลอดเลือดหัวใจ โดยการบังคับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อพบจุดที่มีการอุดตันของเส้นเลือด ชิปจะส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับเพื่อแสดงผลออกทางจอมอนิเตอร์ จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาบริเวณเส้นเลือดที่อุดตันนั้นๆ ทั้งนี้ทีเมค ได้มียอดการผลิตให้บริษัท RADI จำนวน 15 แผ่นต่อปี โดย 1 แผ่นสามารถผลิตชุดตรวจความดันได้จำนวน 50,000 ชุด โดยขายชุดละ 500,000 บาท
สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาตัวไมโครชิปให้มีขนาดเล็กและบางลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวัดความดันให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งในอนาคตจะพัฒนาเครื่องมือการตรวจวัดให้เป็นระบบไร้สาย (Wireless) นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปพัฒนาเป็นไมโครโฟนดิจิตอล ที่ช่วยในการขยายเสียงให้ผู้พิการทางหู และสามารถตัดเสียงรบกวนที่ไม่ต้องการ โดยเลือกเฉพาะเสียงที่ต้องการเท่านั้น
อีกทั้ง ยังนำมาวัดอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ คาดว่าจะสามารถผลิตต้นแบบและทดลองใช้งานจริงได้กลางปี 2549
“ขณะนี้ มียอดการจำหน่ายเทคโนโลยีดังกล่าวเพียง 15 แผ่นต่อปี ห่างจากเป้า 60 แผ่นต่อปี ดังนั้น จำเป็นต้องเพิ่มยอดการจำหน่ายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่เพียงแต่ภาคเอกชน แต่ต้องหมายรวมถึงภาครัฐบาลทั้งหมด อาทิ เมกกะโปรเจ็คของรัฐบาล สามารถที่จะนำไมโครชิปไปติดเพื่อประโยชน์ต่างๆได้ เช่น ติดชิปในบัตรเข้าออกที่สนามบินสุวรรณภูมิ” นายประวิช กล่าว
ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ รองผู้อำนวยการ TMEC กล่าวเพิ่มเติมวว่า นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถต่อยอดไปสู่ผลงานอื่นๆ เช่น ระบบตรวจสอบความดันลมยางขณะขับขี่ (TPMS) โดยพัฒนาให้ไมโครชิปมีขนาดหนาขึ้น ซึ่งชุดตรวจสอบดังกล่าว จะประกอบด้วยตัวส่งสัญญาณ ที่ตรวจวัดความดัน ด้วยหัววัดความดันไร้สาย ไปยังระบบรับสัญญาณ เพื่อแสดงผลเมื่อความดันลมยางสูงเกินมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยชุดตรวจสอบดังกล่าว คาดว่าจะมีราคาประมาณ 20,000 กว่าบาท
อย่างไรก็ดี ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายบังคับใช้ระบบตรวจสอบดังกล่าวแล้ว แต่ในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ แต่คาดว่าอนาคตจะต้องใช้อย่างแน่นอน
https://mgronline.com/science/detail/9480000158447