พันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ที่นักวิจัย สวทช. วิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับพระราชทานชื่อ “ธัญสิริน” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามข้าว “ธัญสิริน” ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าวกรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน จนได้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 แต่มีความต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ธีรยุทธ  ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว     ไบโอเทค ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานนามข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ “ธัญสิริน” ซึ่งมาจากคำว่า “ธัญ” ที่แปลว่าข้าว และพระนาม “สิรินธร” ถือเป็นข้าวพันธุ์แรกที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 ถือเป็นข้าวที่มีการเพาะปลูกเป็นหลัก ข้าวเหนียวที่เรากินส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์นี้ แต่เป็นข้าวที่มีความอ่อนแอ มักจะเกิดโรคไหม้ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่นาน้ำฝน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร ดังนั้น จึงมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 โดยพัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะสำคัญ คือ ความสามารถต้านทานโรคไหม้ ทำให้ได้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวส่วนหนึ่งมาแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรเพาะปลูก ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นออร์แกนิกส์ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

ที่ผ่านมา เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน นำไปทดลองปลูกในนาข้าวของเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง ชัยภูมิ และสกลนคร โดยปลูกแทนข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เดิม ในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าสามารถลดความเสียหายในนาข้าวได้ถึง 30%

https://www.biotec.or.th/th/index.php/ข่าวสารองค์กรปี-2553/263-“ธัญสิริน”-พันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่-นามพระราชทาน