โครงการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือหายากจากประเทศพม่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โครงการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์หนังสือหายากจากประเทศสหภาพพม่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

 1. ความเดิม

ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มีพระราชกระแสรับสั่งกับ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์และ    พลเอกวาภิรมย์ มนัสรังษี รองสมุหราชองครักษ์ เมื่อครั้งที่เข้าเฝ้าและรับเสด็จ ณ ร.ร. ปิยชาติพัฒนา (ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)  จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ถึงความเป็นไปได้ที่จะถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์หนังสือหายาก ในประเทศสหภาพพม่านั้น ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ จึงได้นำเรื่องมาปรึกษาหารือกับคณะทำงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) และศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท.)

ต่อมากรมราชองครักษ์ได้ประสานงานผ่านสถานทูตประเทศสหภาพพม่า เพื่อติดต่อกับ Mr. U Moe Myint นักธุรกิจชาวพม่าและกรรมการผู้จัดการบริษัท  MPRL E&P PTE  Ltd.  เจ้าของหนังสือ ในการให้เข้าไปดำเนินการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ (Digitized) หนังสือหายาก วารสารและหนังสือพิมพ์เก่าที่ทาง Mr. U Moe Myint เก็บรักษาที่บ้าน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งส่งมอบให้กับหอสมุดแห่งชาติ ของประเทศสหภาพพม่าหอสมุดแห่งชาติ  หอสมุดแห่งชาติของประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเอกสารค้นคว้าต่อไป

ระหว่างวันที่ 26 – 27 ธันวาคม 2552 พลเอกวาภิรมย์  มนัสรังษี รองสมุหราชองครักษ์ 10  พลตำรวจเอกประสาน วงศ์ใหญ่ และศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และประธานคณะกรรมการบริหารเนคเทค พร้อมด้วยคณะทำงานได้เดินทางไปยังบ้านพักของ Mr.U Moe Myint ที่กรุงร่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า จากการศึกษาพบว่า Mr. U Moe Myint มีความสนใจการอ่านหนังสือ รวมทั้งสะสมหนังสือที่มีคุณค่า มีระบบการจัดเก็บเอกสารที่ดีมาก มีการแบ่งหมวดหนังสือแยกตามตู้หนังสือและชั้นหนังสือ จัดทำบัญชีรายชื่อหนังสือแยกเป็นหนังสือหายากหมวดต่างๆ จัดทำคำอธิบายสรุป พร้อมภาพหน้าปก อีกทั้งยังได้เก็บหนังสือพิมพ์สำคัญของประเทศสหภาพพม่าและเย็บรวมเล่ม ทั้งนี้หนังสือที่ Mr. U Moe Myint อนุญาตให้ถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ หนังสือหายาก จำนวน 224 รายการ หนังสือพิมพ์เก่า จำนวน 21 เล่ม วารสารชุด The Burma Digest จำนวน 32 เล่ม  จากการปรึกษาหารือได้ข้อสรุปว่า

(1)  หนังสือหายากจำนวน 224 รายการ ทาง สวทช. จะจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรไปดำเนินการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศสหภาพพม่า โดยการดำเนินการ ณ ประเทศสหภาพพม่า ทาง สวทช. จะแนะนำขั้นตอนการดำเนินการให้กับบุคลากรของ Mr. U Moe Myint และจะเข้ามาตรวจสอบแนะนำเป็นระยะ จนกว่าจะครบกำหนด

(2)  หนังสือพิมพ์และวารสารนั้น ทาง สวทช. ได้รับมอบทั้งหมด ให้นำกลับมาดำเนินการในประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อสรุปข้างต้นทั้ง 2 ข้อ สวทช. จึงได้จัดทำข้อเสนอนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้

2.  วัตถุประสงค์

  1. 1. ศึกษาขั้นตอน แนวทางการดำเนินการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์หนังสือหายากของ Mr.U Moe Myint ประเทศสหภาพพม่า
  2. 2. ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานให้กับบุคลากรของ Mr.U Moe Myint ประเทศสหภาพพม่า
  3. 3. พัฒนาฐานข้อมูลบริหารจัดการเอกสารดิจิทัลที่ได้จากโครงการ เพื่อให้จัดหมวดหมู่ สืบค้นได้ง่าย รองรับการทำงานทั้ง Online และ Offline ในรูปแบบ Digital Library
  4. 4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และประเทศสหภาพพม่า

3.  ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม

ระยะเวลาดำเนินการ  9  เดือน ตั้งแต่เดือน ธันวาคม  2552 – เดือน สิงหาคม  2553

เอกสารที่เกี่ยวข้อง